การเทของเหลวหรือสารละลายออกจากขวดลงในอุปกรณ์ที่ใช้ทดลองมีวิธีทำดังนี้
1. การจับขวดสารละลายควรจับทางด้านที่มีป้ายบอกความเข้มข้นหรือบอกชื่อสารในขวด แล้วเทสารละลายออกจากขวดทางด้านตรงข้ามกับป้าย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้สารละลายไหลลงมาถูกป้าย
2. หมุนจุกขวดเบา ๆ เพื่อทำให้จุกขวดหลวม
3. เปิดจุกขวดออก ถ้าจุกขวดนั้นมีส่วนบนแบนเรียบก็วางหงายขึ้น แต่ถ้าจุกขวดมีลักษณะอื่น เช่น เป็นยอดแหลมหรือมีลักษณะปลายกลมจะวางไม่ได้ ต้องถือไว้ให้แน่น ลักษณะการถือจุกขวดนั้นมี 2 แบบคือ ถ้าจุกขวดเป็นยอดแหลมหรือมีส่วนที่ยาวออกมาให้ถือโดยให้ส่วนที่เป็นยอดแหลมหรือส่วนที่ยาวออกมานี้อยู่ระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วกลาง หงายมือขึ้นใช้นิ้วทั้งสองคีบส่วนที่เป็นยอดแหลม แล้วใช้ฝ่ามือจับขวดไว้ แต่ถ้าจุกขวดมีลักษณะปลายกลม จะใช้มือซ้ายจับจุกและเก็บไว้ในอุ้งมือก็ได้
4. เมื่อเทของเหลวหรือสารละลายได้ตามต้องการแล้ว ก่อนที่จะเอาขวดสารออก ควรให้ปากขวดตรงบริเวณที่สารละลายนั้นไหลออกมาแตะกับอุปกรณ์ที่รองรับสารละลายก่อน เพื่อป้องกันมิให้สารละลายไหลลงมาข้างขวดเพราะจะทำให้เปรอะเปื้อนได้
5. ปิดจุกขวดทันที และอย่าหลงลืมวางจุกขวดไว้บนโต๊ะอย่างเด็ดขาด

แหล่งอ้างอิง : ประเสริฐ ศรีไพโรจน์ . เทคนิคทางเคมี . สำนักพิมพ์ประกายพรึก . 2538
เสรี ไตรรัตน์ . ปฏิบัติการเคมีทั่วไป . มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ . 2520