พิฆาตหญ้าด้วยสารจากแบคทีเรีย

ปัญหาอันหนักอกของเกษตรกรในยุคหลังการปฏิวัติเขียว ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กันมาก คงจะหนีไม่พ้นการสู้รบปรบมือกับศัตรูพืชนานาชนิด ทั้งโรคแมลง และวัชพืช ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวการทำให้ผลผลิตของเกษตรกรลดลง ไม่ตรงตามเป้าหมายที่ ต้องการ วิธีการที่เกษตรกรนิยมใช้เพื่อหยุดการทำลายของศัตรูพืชเหล่านี้ก็คือ การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่ยิ่งใช้ก็เหมือนยิ่งยุเพราะยิ่งทำให้ศัตรูพืชดื้อยามากยิ่งขึ้น ท้ายที่สุดเกษตรกร ก็ยิ่งต้องใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์ในการทำลายสูงยิ่งขึ้นและยิ่งเกิดปัญหามากขึ้น เพราะสารเคมี เหล่านี้มีพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม ไม่ถูกจุลินทรีย์ในธรรมชาติย่อยสลายไปง่าย ๆ สารพิษที่สะสมในสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ก็จะกลับมาเป็นโทษต่อสิ่งมีชีวิตต่อไปอีก และที่สำคัญก็คือ ตัวเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีจะต้องเสี่ยงต่อการรับสารพิษในขณะฉีดยามากที่สุด และสารเหล่านี้อาจเป็นสารก่อมะเร็งที่เข้าไปสะสมในร่างกายรอวันแสดงพิษสงออกมาก็ได้

ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการในประเทศพัฒนาแล้วจึงเร่งค้นหาสารกำจัดศัตรูพืชหรือวิธีการใหม่ ๆ ที่จะไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และไม่มีฤทธิ์ตกค้างในสิ่งแวดล้อมหรือสลายตัวได้ง่ายในธรรมชาติซึ่งก็มีทั้งการใช้สารสกัดจากสมุนไพรในธรรมชาติ หรือการใช้ไวรัสหรือแบคทีเรียทำให้แมลงศัตรูพืชป่วยเป็นโรคตายไปก็มี

สำหรับวัชพืช หรือหญ้าที่เราไม่ต้องการ ซึ่งขึ้นมาแย่งธาตุอาหารในดินจากพืชที่ปลูกจนทำให้ผลผลิตลดต่ำลง ก็มีการค้นหาวิธีที่ไม่เป็นอันตรายเช่นกัน และเมื่อปี พ.ศ. 2527 นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันได้ค้นพบและรายงานว่า กรดอะมิโนชนิดหนึ่งมีชื่อว่า delta Aminolevulinic Acid (ALA) สามารถใช้เป็นสารปราบวัชพืชได้อย่างดีเยี่ยมโดยไม่ทำลายพืชที่ปลูก และที่สำคัญที่สุด ก็คือ กรดอะมิโนนี้เป็นสารธรรมชาติที่สลายตัวได้ง่าย จึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาก็คือ สาร ALA สังเคราะห์จะมีราคาแพงถึงกรัมละ 1,800-2,000 บาท ซึ่งถ้าเกษตรกรนำไปใช้ แม้จะได้ผลผลิตเต็มที่ แต่คงต้องขายที่นาใช้หนี้ค่าสาร ALA นี้แน่นอน

ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ แห่งภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงพยายามที่จะศึกษาวิจัยหาแหล่งผลิตสาร ALA จากแหล่งอื่นที่จะทำให้สาร ALA ที่ได้มีราคาถูกลงและสามารถนำไปใช้ได้จริง

"ในภาวะที่เรากำลังเป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ การใช้สารกำจัดวัชพืชที่ไม่มีผลตกค้างในสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นทางออกที่ดี สาร ALA นี้น่าจะเป็นสารสำคัญสำหรับทศวรรษหน้า" ดร.นภาวรรณกล่าว

ขณะนี้งานวิจัยชิ้นนี้กำลังก้าวสู่การพัฒนากรรมวิธีการผลิตสารกำจัดวัชพืช ALA ในระดับใหญ่ขึ้นในถังหมักระดับกึ่งอุตสาหกรรม และถ้าหากในอนาคตสามารถพัฒนาให้ ต้นทุนการผลิตคุ้มค่า ก็สามารถนำไปผลิตใช้ในระดับอุตสาหกรรมได้ และเมื่อถึงวันนั้น สารกำจัดวัชพืช ALA ที่ผลิตจาแบคทีเรียสังเคราะห์แสง ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะออกจากห้องแล็บไปสู่ท้องไร่ท้องนา ให้เกษตรกรได้ใช้โดยปราศจากความกังวลกันเสียที

จาก คอลัมน์มองไทย โดย เกษตรกร อัพเดท 7(82) : 30-31 ธ.ค. 2535