Aminolevulinic Acid (ALA)

จากการวิจัยของ ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ แห่งภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าโดยปกติสาร ALA นี้เป็นสารธรรมชาติที่มีอยู่ในพืชและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ หลายชนิดอยู่แล้ว และจากการที่ดร.นภาวรรณ ได้ศึกษาคลุกคลีอยู่กับงานวิจัยทางด้านจุลินทรีย์มากกว่า 15 ปี โดยเฉพาะแบคทีเรียสังเคราะห์แสง จึงทำให้ทราบว่าแบคทีเรียสังเคราะห์แสง ซึ่งอยู่ในวงศ์ Rhodospirillaceae จะมีการสร้างสาร ALA เพื่อนำไปใช้ในการสังเคราะห์สารสำคัญที่จะใช้ในการดำรงชีวิตของมัน เช่น สังเคราะห์คลอโรฟีลล์เพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง ดังนั้น ดร.นภาวรรณ จึงได้ทดลองเลี้ยงแบคทีเรียสังเคราะห์แสง ซึ่งแยกมาจากแหล่งน้ำจืดในประเทศ ทั้งหมด 68 สายพันธุ์ และพบว่าแบคทีเรีย Rhodobacter sphaeroides เป็นสายพันธุ์ที่ผลิตสาร ALA ได้สูงที่สุดคือ 1023 ไมโครโมลต่อลิตรต่อชั่วโมง

เมื่อนำสาร ALA ที่ผลิตได้มาทดลองฉีดพ่นในพืช พบว่า สามารถทำลายวัชพืชใบกว้างได้ดีกว่าใบแคบ เช่น ผักยาง ผักเสี้ยน จะเกิดอาการเหี่ยวแห้งหลังจากถูกแสงแดด 24 ชั่วโมง และตายในเวลาต่อมา ส่วนผักโขมและผักโขมหนาม ซึ่งเป็นวัชพืชใบกว้างเหมือนกัน แต่มีใบหนากว่าก็มีอาการแห้งตายเช่นกัน แต่มีบางส่วนที่ฟื้นคืนได้ใหม่ แต่ถ้าเป็นวัชพืช ใบแคบ เช่น หญ้าข้าวนก จะมีอาการแห้งที่ปลายใบเพียงเล็กน้อยเท่านั้นแต่จะฟื้นคืนได้ใน ที่สุด

สารกำจัดวัชพืช ALA นี้สามารถทำลายวัชพืชใบกว้างได้อย่างเฉียบพลัน รุนแรง และเฉพาะเจาะจง โดยเมื่อวัชพืชได้รับสาร ALA มันก็จะถูกชักนำให้ผลิตสารชนิดหนึ่งขึ้นมามากซึ่งสารชนิดนี้ เมื่อถูกแสงจะให้ออกซิเจนอะตอม ซึ่งจะไปออกซิไดส์ผนังเซลล์ของวัชพืช ให้รั่ว เกิดอาการเหี่ยว ขาวซีด และแห้งตาย และเพราะสาร ALA นี้จะเลือกทำลายเฉพาะพืชใบกว้างซึ่งมีโครงสร้างการสังเคราะห์แสงที่แตกต่างจากพืชใบแคบ มันจึงสามารถนำไปใช้ในนาข้าว ไร่ข้าวโพดข้าวฟ่าง ซึ่งเป็นพืชใบแคบได้อย่างดี โดยมันจะเลือกทำลายเฉพาะวัชพืชใบกว้างที่ขึ้นมาเกะกะในไร่นาให้ราบคาบลง
จาก คอลัมน์มองไทย โดย เกษตรกร อัพเดท 7(82) : 30-31 ธ.ค. 2535