6 คำถาม-คำตอบ  เกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 
ข้อมูลอีกด้านที่ไม่ควรมองข้าม

คำถาม : โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลกจริงหรือ

         ในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปยุคทองของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ผ่านพ้นไปแล้วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา  สหรัฐอเมริกา (ซึ่งมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากที่สุดในโลก คือ 112 โรง)  ไม่เคยอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกเลย  ขณะเดียวกันก็ยกเลิกแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวจำนวน 120 โรง  ในแคนาดา Ontario Hydro  อันเป็นหน่วยงานผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศได้ระงับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 10 แห่งไปแล้วเมื่อไม่นานนี้
 ส่วนที่เยอรมนีไม่มีการอนุมัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกเลยนับแต่กลางทศวรรษ  1970  หลังจากนั้นไม่นานประชาชนสวีเดน  สวิตเซร์แลนด์  อิตาลี  สเปน  ออสเตรีย และกรีซ  ก็ได้ลงประชามติให้เริ่มลดโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ก็ยุติการก่อสร้างไปเลย  ส่งผลให้รัฐบาลในประเทศเหล่านี้ยุติการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์  นอกจากนั้นในปี พ.ศ.  2535  รัฐบาลเบลเยียมได้ประกาศระงับการขยายโครงการพลังงานนิวเคลียร์แห่งใหม่ในยุโรปคงมีฝรั่งเศสประเทศเดียวที่ยังขยายโครงการไฟฟ้านิวเคลียร์อีกต่อไป
 กล่าวได้ว่าเอเซียดูจะเป็นภูมิภาคเดียวในโลกที่มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้โดยการผลักดันจากประเทศอุตสาหกรรม  ซึ่งไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ในประเทศของตนแล้วเช่น  แคนาดา  อย่างไรก็ตามกระแสการคัดค้านก็ยังมีอยู่ในหลายประเทศของเอเซีย  โดยเฉพาะเมื่อเร็ว ๆ นี้  รัฐสภาไต้หวันลงมติให้ยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่  ขณะเดียวกันประชาชนเมืองมากิ  ในญี่ปุ่น  ก็ได้ลงประชามติไม่ให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองของตน
 
คำถาม :  โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความปลอดภัยจริงหรือ
 
        แม้ว่าจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาโดยตลอด  แต่ยังไม่มีหลักประกันว่า
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะปลอดภัยอย่างเต็มที่  ข่าวคราวเกี่ยวกับอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้าเคลียร์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องที่เป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วโลกล่าสุด (ธันวาคม  2538) ก็คือ  กรณีโรงไฟฟ้ามอนจูของญี่ปุ่น  ซึ่งเป็นโครงการนิวเคลียร์ที่ทันสมัยที่สุด  ทั้งของญี่ปุ่นและของโลก  หลังจากเปิดเดินเครื่องมาได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น  ก็เกิดอุบัติเหตุสำคัญจนต้องปิดโรงงานไปมีกำหนด 3 ปี  ความผิดพลาดในระบบระบายความร้อนของโรงไฟฟ้าดังกล่าวทำให้โซเดียมเหลวรั่วไหลออกมาถึง 3 ตัน  ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายอย่างยิ่งเนื่องจากเมื่อมันกระทบกับอากาศจะมีฤทธิ์ระเบิดรุนแรง
 เหตุการณ์ดังกล่าวตามมาด้วยอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 2 แห่งของญี่ปุ่น  จนต้องปิดกะทันหัน  โดยที่ก่อนหน้านั้นก็เคยเกิดอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งอื่น ๆ อีก
 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเป็นชนิดเดียวกับของสหรัฐอเมริกา  ด้วยเหตุนี้อุบัติเหตุเกือบทุกชนิดที่เกิดกับญี่ปุ่นก็เคยเกิดในสหรัฐอเมริกามาแล้ว (และมีแนวโน้มว่าจะเกิดต่อไป)
 กรณีโรงไฟฟ้ามอนจูเป็นหลักฐานยืนยันว่า  เทคโนโลยีนิวเคลียร์แบบล่าสุดยังไม่ใช่ข้อยืนยันว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นสิ่งที่น่าไว้วางใจ  โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยและวินัยของคนงานญี่ปุ่นนั้นจัดว่าเข้มงวดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
 ในฝรั่งเศสพบว่าโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นสูงกว่าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของฝรั่งเศส (EDF)  ประมาณการไว้ถึง 20,000 เท่า  ขณะเดียวกันรายงาน (ลับ) ของ EDF ที่รั่วไหลสู่สาธารณชน  เมื่อปี พ.ศ.  2533  ก็ระบุว่าโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ร้ายแรงในฝรั่งเศสเมื่อถึงปี พ.ศ.  2543 นั้น  มิใช่ 1 ต่อล้านอย่างที่คิด  หากเป็น 1 ต่อ 20
 แม้จะยังไม่พบว่ามีผู้เสียชีวิตทันทีจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหลาย (ยกเว้นกรณีเซอร์โนบิล)  แต่ปัจจุบันยังมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่ากัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจมีผลต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คนที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ใกล้ ๆ ได้  เมื่อปี พ.ศ.  2538  สำนักงานตรวจสอบมาตรฐานแรงงาน 2 แห่ง  ซึ่งสังกัดกระทรวงแรงงานญี่ปุ่น  ได้ยอมรับเป็นครั้งแรกว่าการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนงาน 2 คน  เป็นผลจากกัมมันตภาพรังสีที่ได้รับขณะทำงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์


คำถาม :  ในปัจจุบันเราสามารถจัดการกับกากกัมมันตภาพรังสีได้แล้วหรือ
 

        แม้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถบำบัดกากกัมมันตภาพรังสีระดับต่ำและ
ระดับปานกลาง (ซึ่งเกิดจากการทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ)  ให้สลายตัวในเวลาไม่นาน  แต่กากกัมมันตรังสีระดับสูงซึ่งปะปนอยู่ในเชื้อเพลิงใช้แล้วยังเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้
 สถานที่เก็บกากกัมมันตรังสีในปัจจุบันไม่ว่าที่ไหน  ล้วนเป็นเพียงสถานที่ชั่วคราวเท่านั้น  สถานที่เก็บกากกัมมันตรังสีแบบ "ถาวร"  ที่แท้จริงนั้นจะต้องสามารถเก็บกากดังกล่าวไว้อย่างมิดชิดได้นานถึงหมื่นปี  เพื่อให้กากกัมมันตรังสีสลายตัวไปจนกระทั่งมีระดับรังสีเท่ากับธรรมชาติ  แม้จะมีการคิดค้นวิธีต่าง ๆ เช่น  เก็บกักไว้ในอุโมงค์ใต้ดิน  แต่ก็ยังไม่มีหลักประกันว่าอุโมงค์ดังกล่าวจะคงทนได้นานถึงหมื่นปี  โดยที่สามารถป้องกันไม่ให้กากดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมข้างเคียงได้
 ปัจจุบันสหรัฐอเมริกากำลังประสบปัญหาดังกล่าวอย่างหนักหน่วงจนกระทั่งทุกวันนี้รัฐสภาสหรัฐอเมริกายังไม่สามารถอนุมัติโครงการจัดทำสถานเก็บกากกัมมันตรังสีแบบถาวรได้โดยให้เลื่อนโครงการนี้ออกไปจนถึงปี พ.ศ.  2543
 ส่วนสถานที่เก็บกากกัมมันตรังสีแบบชั่วคราวก็เป็นปัญหาเช่นกัน  เพราะนอกจากประชาชนส่วนใหญ่จะคัดค้านไม่ให้ใช้ท้องถิ่นของตนเป็นที่เก็บแล้ว  การส่งไปเก็บในประเทศอื่นก็ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
 ในสหรัฐอเมริกามีประชาชนเป็นอันมากป่วยด้วยโรคร้ายแรง  เช่น  มะเร็ง  โดยสันนิฐานว่าเกิดจากกากกัมมันตรังสีที่เก็บในสถานที่เก็บชั่วคราวก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่
รูปโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

คำถาม :  ไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ราคาถูกจริงหรือ

 
        เป็นที่ยอมรับในหลายประเทศแล้วว่า  ไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์มิใช่เป็นพลังงานที่ถูก
ที่สุดอย่างที่เคยเชื่อกันเมื่อสองทศวรรษที่แล้ว  แท้ที่จริงแล้วกลับตรงกันข้ามด้วยซ้ำ  นี้คือเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่สหรัฐอเมริกา และแคนาดาระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในยุโรป
 ในกรณีประเทศไทย  การวิจัยของธนาคารโลกระบุว่าประเทศควรเลือกพลังงานนิวเคลียร์เป็นหนทางสุดท้ายเท่านั้นเพราะมีต้นทุนสูงที่สุด  กล่าวคือ 1.87 - 2.56  บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง  ขณะที่ก๊าซธรรมชาติราคาถูกที่สุดคือ 1 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง  รองลงมาคือไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินกำมะถันต่ำในโรงงานที่ติดเครื่องลดกำมะถัน  ราคา 1.32 - 1.52  บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง
 ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย  ซึ่งชี้ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หน่วยแรกขนาด 1,000 เมกะวัตต์  จะเสียค่าใช้จ่าย 2.25  บาท/กิโลวัตต์  ส่วนหน่วยที่สองจะเสีย 1.87  บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง  ขณะที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติมีเพียง 0.77 - 0.87 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง
 ผู้ที่ยืนยันว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ราคาถูกที่สุดนั้น  มักจะไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนจริงหรือปัจจัยแปรผัน  ในความเป็นจริงจะพบเสมอว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่วนใหญ่มีค่าก่อสร้างสูงกว่าที่คาดไว้เพราะนอกจากจะใช้เวลานานกว่ากำหนดแล้วยังต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัยอีกมากมาย  ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการควบคุมการทำงานและบำรุงรักษาก็มักจะสูงกว่าที่กำหนดมาก  ใช่แต่เท่านั้นยังมีรายจ่ายอีกมากมายที่มักจะไม่ได้คำนวณเอาไว้ก่อน  เช่น  ค่ารื้อถอนหลังครบอายุการใช้งาน (แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นอันมากหมดสภาพก่อนครบกำหนด  ข้อมูลจาก Worldwatch Institute ระบุว่าเมื่อปี พ.ศ.  2535  โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 76 แห่งทั่วโลกถูกรื้อถอนหลังจากมีอายุใช้งานเพียง 17 ปี ทั้ง ๆ  ที่ระบุไว้ในโครงการว่าใช้งานได้ถึง 30 ปี)
 นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายแฝงอีกมากมาย  เช่น  การกำจัดกาก และการซ่อมแซมซึ่งใช้เงินสูงมาก  ในแคนาดา  โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งหนึ่งซึ่งใช้มาได้ 16 ปี  ต้องใช้เงินซ่อมแซมถึง 100,000 ล้านบาท  เนื่องจากทรุดโทรมก่อนอายุขัยที่คาดไว้  อีกแห่งหนึ่งต้องใช้เงินซ่อมแซม 20,000 ล้านบาท  ในฝรั่งเศสการซ่อมแซมแบบเร่งด่วน (ไม่ใช่การยกเครื่องอย่างกรณีแคนาดา) ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 6 แห่งต้องใช้เงินประมาณ 3,000 - 4,000 ล้านบาท
 ค่าใช้จ่ายที่มองข้ามไม่ได้ก็คือเงินอุดหนุนลักษณะต่าง ๆ  เช่น  การให้ทุนวิจัยและประชาสัมพันธ์  เงินอุดหนุนแบบต่าง ๆ ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของฝรั่งเศสหลังจากที่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กว่า 70 โรง  เป็นหนี้ถึง 950,000 ล้านบาท
คำถาม :   ถ้าไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตอนนี้  ในอนาคตเราจะมีโรงไฟฟ้าใช้หรือ
        พลังงานต่าง ๆ ของโลกยังไม่หมดไปง่าย ๆ  หากการใช้พลังงานยังอยู่ในอัตรา
ปัจจุบัน  น้ำมันทั่วโลกเท่าที่ค้นพบและคุ้มค่าแก่การสูบขึ้นมาใช้มีมากพอที่จะใช้ได้นานกว่า 40 ปี  ก๊าซธรรมชาติมีพอใช้กว่า 60 ปี  นอกจากนั้นโลกยังมีถ่านหินให้ใช้ได้ไม่น้อยกว่า 230 ปี  จริงอยู่ในความเป็นจริงความต้องการย่อมเพิ่มขึ้น  แต่ขณะเดียวกันปริมาณสำรองก็จะเพิ่มขึ้นด้วย  เนื่องจากมีการสำรวจแพร่หลายขึ้นโดยต้นทุนก็จะลดลงด้วย
 ดูจากตัวเลขดังกล่าว  ไม่มีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะรีบสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในตอนนี้  แม้รอตัดสินใจสร้างอีก 20 - 30 ปีข้างหน้ายังไม่สาย  ถึงตอนนั้นเทคโนโลยีนิวเคลียร์อาจน่าไว้วางใจมากกว่าตอนนี้ก็ได้  ขณะเดียวกันไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ก็อาจมีราคาไม่ต่างจากไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล  เพราะเชื้อเพลิงดังกล่าวอาจจะมีราคาแพงขึ้นเนื่องจากมีปริมาณเหลือน้อยลง
 อันที่จริงแล้วยังมีวิธีการอีกมากมายที่สามารถรับมือกับวิกฤตการณ์น้ำมันได้ดีกว่าการพึ่งพลังงานนิวเคลียร์  เช่น  การสร้างคลังเก็บน้ำมันขณะที่ยังมีราคาต่ำดังปัจจุบัน  การกำจัดการใช้รถหรือส่งเสริมรถยนต์ที่ประหยัดน้ำมันเสียแต่ตอนนี้  รวมทั้งการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง


คำถาม :  โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันก่อให้เกิดปรากฎ
          การณ์เรือนกระจกไม่ใช่หรือ
 

         จริงอยู่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ใช้น้ำมันถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า  แต่กระบวนการต่าง ๆ  ในการผลิตและแปรสภาพยูเรเนียมให้เป็นเชื้อเพลิงที่เหมาะแก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ต้องอาศัยน้ำมันหรือถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
 หากพิจารณากระบวนการต่าง ๆ ในวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์แล้วจะพบว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเพียงหนึ่งในกระบวนการต่าง ๆ อีกมากมาย  เริ่มต้นก็ต้องเหมืองแร่ยูเรเนียม  ตามมาด้วยโรงงานแปรสภาพยูเรเนียมและโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียม  จากนั้นก็ต้องมีโรงงานสำหรับแปรสภาพยูเรเนียมที่เสริมสมรรถนะแล้วให้เป็นผงยูเรเนียมไดออกไซด์  ตามด้วยโรงงานขึ้นรูปเชื้อเพลิง  แล้วจึงมาถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  หลังจากนั้นก็ต้องมีการขนส่งเชื้อเพลิงใช้แล้วไปยังโรงงานสกัดเชื้อเพลิงใช้แล้วหรือโรงงานจัดการกากเชื้อเพลิงใช้แล้ว     กระบวนการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาล้วนแต่ส่งผลให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งสิ้นไม่ทางตรงก็ทางอ้อม  ดังนั้นจึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังนิวเคลียร์นั้นช่วยลดปรากฎการณ์เรือนกระจกอย่างที่มักอ้างกัน
 มีการผลิตไฟฟ้าอีกหลายวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  โดยไม่ต้องพึ่งพลังงานนิวเคลียร์  นอกจากการใช้พลังแสงอาทิตย์  พลังลม และความร้อนจากใต้พิภพแล้ว  วิธีที่ได้ผลก็คือการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ  การใช้พลังงานน้อยลง 1 หน่วยย่อมทำให้เรามีพลังงานเพิ่มขึ้น 1 หน่วยโดยไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการผลิตเลย  การศึกษาของธนาคารโลกเมื่อปี พ.ศ.  2536  ชี้ว่าการจัดการเพื่อให้การใช้ไฟฟ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้มีไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยใช้เงินเพียง 1 ใน 4 ของพลังนิวเคลียร์เท่านั้น (0.53 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง  เทียบกับ 2.06 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมงจากพลังงานนิวเคลียร์)



ที่มา : รวบรวมจาก  กลุ่มศึกษาปัญหานิวเคลียร์   วารสารสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 7 ปีที่ 2 ประจำเดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ 2540