กระดาษกับการอนุรักษ์

แต่ไหนแต่ไรมนุษย์มีความต้องการจะบันทึกความทรงจำและจินตนาการของตนเพื่อสะสมและถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง แต่เมื่อไม่มีวัสดุใด ๆ จะสนองความนึกคิดเช่นนั้น คนสมัยดึกดำบรรพ์จึงใช้วิธีวาดภาพสัตว์ต่าง ๆ ลงบนผนังถ้ำ เช่น คนจีนโบราณนิยมแกะสลักกระดูกสัตว์หรือสิ่งของ คนกรีกในอดีตมักจะเขียนความรู้และความคิดลงบนหนังสัตว์ ชนเผ่า Maya ใช้วิธีวาดภาพบนเปลือกไม้ คนอียิปต์โบราณรู้จักทำกระดาษสำหรับเขียนจากต้น papyrus ที่ขึ้นตามสองฝั่งของแม่น้ำ Nile และคำว่ากระดาษ (paper) ก็มาจากคำว่า papyrus นั่นเอง

ประวัติศาสตร์ยังบันทึกไว้อีกว่า คนจีนที่ชื่อ Tsai Lun เป็นบุคคลแรกที่รู้จักทำกระดาษ โดยในปี ค.ศ. 105 เขาใช้ผ้าขี้ริ้วและด้ายที่ใช้ทอแห กระดาษที่เขาประดิษฐ์ขึ้นนี้มีจุดมุ่งหมายจะให้เป็นวัสดุสำหรับเขียนแทนผ้าไหม เพราะผ้าไหมมีราคาแพง นอกจากคนจีนจะรู้จักทำกระดาษสำหรับเขียนแล้ว เขายังรู้จักใช้เงินที่ทำด้วยกระดาษอีกด้วย

แต่ถึงแม้เทคโนโลยีการทำกระดาษจะเกิดขึ้นที่ประเทศจีนก็ตาม เทคโนโลยีการทำกระดาษของจีนก็มิได้แพร่หลายสู่ชาติอื่นเลย เพราะสังคมจีนโบราณปิด เมื่อจีนเจริญขึ้น ได้ทำมาค้าขายกับประเทศใกล้เคียงมากขึ้น คนเกาหลีจึงได้รู้จักกระดาษเป็นครั้งแรกเมื่อ Macro Polo ไปเยือนจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 12 และได้เห็นประเพณีการเผากระดาษในงานศพ เมื่ออาณาจักรมองโกลแผ่ขยาย เทคโนโลยีการทำกระดาษของจีน ก็ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก

ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 โลกก็ได้ก้าวเข้าสู่ยุคของการเรียนรู้อย่างแท้จริงเมื่อ Johannes Guthenberg ได้ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ขึ้นเพราะหลังจากนั้นเพียง 50 ปี ห้องสมุดทั่วโลกก็มีหนังสือกฎหมาย วิทยาศาสตร์ การเมือง ศาสนา และการผญภัยเต็ม การรู้จักทำกระดาษและการรู้จักพิมพ์ได้นำมนุษย์ไปสู่ความเป็นอารยะมากขึ้น Shakespeare ประพันธ์บทละครบนกระดาษ Beethoven แต่งซิมโฟนี โดยเขียนโน้ตเพลงลงบนกระดาษ Picasso วาดภาพโดยใช้กระดาษ และ Einstein คิดทฤษฎีฟิสิกส์โดยใช้กระดาษเป็นสื่อในการลำดับความคิดทุกขั้นตอน ความคิดสร้างสรรค์ที่อัจฉริยะเหล่านี้บันทึกลงบนกระดาษได้เปลี่ยนโฉมและทิศทางของอารยธรรมมนุษย์มาก Martin Luther ได้เคยกล่าวว่า หากคนบนโลกทุกคนมีคัมภีร์ไบเบิลที่พิมพ์ด้วยกระดาษ โลกก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องมีนักบวช พระ หรือสันตะปาปาอีกต่อไป

ปัจจุบันกระดาษมีความสำคัญทางเศรษฐกิจพอๆ กับน้ำมันและเหล็กกล้า ในแต่ละปีโลกผลิตกระดาษได้ 300 ล้านตัน ซึ่งนับว่าหนักกว่านี้น้ำหนักของฟิล์มภาพยนตร์ที่โลกผลิตถึง 3 เท่า อุตสาหกรรมกระดาษในสหรัฐฯ ทำเงินเข้าประเทศปีละ 6 ล้านล้านบาท กระดาษที่ซื้อขายนี้ส่วนใหญ่ปรากฎในรูปของหนังสือพิมพ์ 24,000 ล้านฉบับ ดังนั้นเมื่อคิดโดยเฉลี่ยคนอเมริกันหนึ่งคนใช้กระดาษปีละ 330 กิโลกรัม

ส่วนในประเทศญี่ปุ่นกระดาษก็มีความสำคัญเช่นกัน คนญี่ปุ่นถือว่าการทำกระดาษเป็นศิลปกรรมรูปแบบหนึ่งของชาติ เด็กญี่ปุ่นชอบเล่นว่าวที่ทำด้วยกระดาษ เกอิชาใช้ร่มที่ทำจากกระดาษ ม่านบังตาที่ใช้ในบ้านของคนญี่ปุ่นก็มักจะทำด้วยกระดาษและศิลปะการพับกระดาษเป็นรูปสัตว์ (origami) ของญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก

ถึงแม้ประวัติความเป็นมาของกระดาษจะยาวสักปานใดก็ตาม แต่องค์ประกอบหลัก ๆ ที่ใช้ในการทำก็ยังคงเหมือนเดิม คือน้ำและใยเซลลูโลส หากเราใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนส่องดูกระดาษ เราจะเห็นโมเลกุลของน้ำยึดติดกับโมเลกุลของเซลลูโลสและพันธะเคมีที่เกิดขึ้นระหว่างโมเลกุลทั้งสอง ได้ทำให้กระดาษแข็ง

ถึงแม้วิทยาการการทำกระดาษปัจจุบันจะก้าวหน้าสักเพียงใดก็ตาม กระดาษก็มีการสลายตัว เนื้อกระดาษที่เคยมีสีขาวหรือหมึกกระดาษที่เคยมีสีดำเมื่อกาลเวลาผ่านไปจะกลายสภาพและกระดาษจะเปราะหัก ดังนั้นนักอนุรักษ์หนังสือหรือสิ่งพิมพ์ที่มีค่า มีความกังวลที่จะต้องพิทักษ์รักษาอารยวัตถุเหล่านี้ โดยเฉพาะหนังสือจีนที่ถูกพิมพ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1402 ซึ่งถือกันว่าเป็นสิ่งพิมพ์ที่โบราณที่สุดของโลก และรู้จักกันทั่วไปในนามว่า Dunhunag Diamond Sutra นั้นต้องได้รับการอนุรักษ์เป็นพิเศษ

ประวัติศาสตร์จึงได้จารึกว่า Sir. Auriel Stein คือนักโบราณคดีชาวอังกฤษที่ได้พบเอกสารฉบับประวัติศาสตร์นี้ในถ้ำแห่งหนึ่งใกล้เมืองตุนหวงเมื่อปี พ.ศ. 2540 ตัวเอกสารทำด้วยกระดาษที่มีความยาว 5 เมตร และมีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศจีนเมื่อ 1,150 ปีก่อนโน้น ปัจจุบันกระดาษตุนหวงถูกเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของอังกฤษ และกระดาษโบราณนี้มีรอยปริแตกตามเนื้อกระดาษมากมาย

ดังนั้นพิพิธภัณฑ์จึงได้ติดต่อกับ K.Seddon และ F.Jones แห่งมหาวิทยาลัย Sussex ในประเทศอังกฤษให้อนุรักษ์กระดาษตุนหวงก่อนที่กระดาษจะป่นเหลือแต่ขุย นักเคมีทั้งสองได้พบว่า sodium nittrate เป็นสารเคมีที่สามารถละลายกาวใช้ในการทำกระดาษเพื่อติดกับฐานรองได้ดี และสารเคมีนี้ไม่ทำให้หมึกและตัวอักษรต่าง ๆ ที่จารึกบนกระดาษเลอะเลือน กระดาษตุนหวงจึงมีทีท่าว่าจะอยู่คู่พิพิธภัณฑ์ไปอีกนาน

คัมภีร์ตุนหวงมิได้เป็นแผ่นกระดาษแผ่นเดียวที่โลกอนนุรักษ์ ความจริงมีอยู่ว่าจากจำนวนหนังสือและเอกสารจำนวนนับพันล้านชิ้นที่โลกพิมพ์ในแต่ละปี จะมีเพียงไม่กี่พันชิ้นที่โลกจะอนุรักษ์ให้อยู่คู่โลกสืบไป และผู้ที่จะทำให้ความต้องการนี้เป็นจริงจะต้องมีทั้งความชำนาญของนักวิทยาศาสตร์ และความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน

ยกตัวอย่างเช่นที่ Library of Congress ของสหรัฐอเมริกา ห้องสมุดนี้มีหนังสือที่มีค่าประมาณมิได้หลายร้อยเล่มที่กำลังได้รับการอนุรักษ์ บางเล่มได้รับการเข้าเล่มใหม่โดยใช้มือเย็บเล่มแทนเครื่องจักร บางเล่มถูกบรรจุอยู่ในกล่องพิเศษมิให้ฝุ่นละอองหรือความชื้นรบกวน และสืบเนื่องมาจากการที่กระดาษและหมึกมีสภาพเป็นกรด ซึ่งกัดกระดาษตลอดเวลา ดังนั้นคนอนุรักษ์จะใช้วิธีจุ่มกระดาษลงในสารละลายที่เป็นด่างเพื่อสลายฤทธิ์ของกรดให้หมด

ณ ห้องสมุดแห่งนี้มีหนังสือพิมพ์ Lzvestia ของรัสเซียฉบับแรกของโลกที่ถูกตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2460 และเอกสารสมัยสงครามกลางเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งได้ถูกมอดไชเป็นรูเล็ก ๆ เอกสารเหล่านี้ได้รับการซ่อมโดยนักอนุรักษ์ ซึ่งใช้วิธีเติมกระดาษลงไปในรูเล็ก ๆ เพื่อทำให้เต็มและมีความกลมกลืนนทั้งสีและเนื้อกระดาษ

โครงการอนุรักษ์กระดาษที่สิ้นเปลืองที่สุดเห็นจะได้แก่ การอนุรักษ์คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ และรัฐธรรมนูญแห่งชาติ เพราะเอกสารดังกล่าวทำด้วยหนังสัตว์ จึงถูกเก็บอยู่ในภาชนะปิดทีมีฮีเลียมเหลว อุณหภูมิ -269 องศาเซลเซียสหล่อเลี้ยง

ความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านอวกาศของสหรัฐฯ ก็ได้เข้ามามีบทบาทในการอนุรักษ์กระดาษเช่นกัน เพราะนักอนุรักษ์ได้ใช้กล้องถ่ายภาพที่มีอำนาจในการแยกภาพประสิทธิภาพสูงที่เขาใช้ในดาวเทียม สังเกตดูการเปลี่ยนแปลงของตัวอักษรต่าง ๆ ที่ปรากฎบนกระดาษหากเวลากล้องถ่ายภาพเลื่อนไป ความเข้มของหมึกที่มันบันทึกก็จะเปลี่ยน และความเข้มนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นตัวเลขโดยคอมพิวเตอร์ ดังนั้นหากตัวอักษรเสื่อมสภาพ ตัวเลขที่ปรากฎก็จะเปลี่ยนแปลงทันที และนั่นก็คือสัญญาณชี้บอกให้นักอนุรักษ์กระดาษเริ่มหยิบแปรงหรือพู่กันมาเติมแต่งกระดาษให้คงสภาพเหมือนเดิม ส่วนหนทางสุดท้ายที่จะป้องกันกระดาษให้ปลอดจากการผุเปื่อยก็คือใช้ microfilm หรือ CD บันทึกข้อมูลแทนกระดาษไงครับ


ที่มา : รวบรวมจาก ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน วิทยาศาสตร์น่ารู้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี