ผลกระทบต่อระบบนิเวศเขตร้อนเมื่อโลกเปลี่ยนแปลง

แต่เดิมเราเคยมีแม่น้ำลำคลองที่ใสสะอาด มีอากาศบริสุทธิ์ มีป่าไม้เขียวขจีตลอดปี สิ่งเหล่านี้เราได้เห็นอยู่อย่างจำเจทุกวันทำให้เราไม่เห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้

ปัจจุบันเรานิยมเรียกว่า สิ่งแวดล้อม แต่ขณะนี้เราจะได้ยินแต่คำว่า สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ น้ำเสีย อากาศเสีย คลองทุกคลองในกรุงเทพฯ เช่น คลองแสนแสบ คลองสามเสน คลองผดุงกรุงเกษม ล้วนแต่มีน้ำดำส่งกลิ่นเหม็น อาหารก็มีสารพิษ และยาฆ่าแมลงเจือปน ที่เป็นเช่นนี้เพราะกรุงเทพฯ มีการขยายตัวเมืองออกไปอีกมาก แต่เป็นการขยายอย่างไม่มีระบบแบบแผน ผนวกกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในเขตเมือง ดังนั้น กรุงเทพฯ จึงมีปัญหามลพิษเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนระบบนิเวศน์มาก เช่น การจราจรติดขัด ปัญหาชุมชนแออัด อาชญากรรม มลพิษทางเสียง แสง อากาศ น้ำ และปัญหาสุขภาพอนามัย สภาพมลพิษดังกล่าวนี้รุนแรงขึ้นทุกปี

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเพิ่มประชากรสูงที่สุด ดังนั้นความต้องการในปัจจัยสี่ของประเทศก็เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งวิถีชีวิตที่เทคโนโลยีได้กลายเป็นสิ่งจำเป็น เช่น การใช้รถยนต์ ผงซักฟอก เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ทำให้ของเสียจากชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งอยู่รอบตัวเรา ได้แก่ ดิน น้ำ อากาศ และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย คือ คน พืช และสัตว์

สิ่งใกล้ตัวเราที่ต้องเผชิญกันอยู่ทุกวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ดีกว่า นั่นก็คือ มลพิษในอากาศ ทุกวันนี้การเดินทางไปทำงานและกลับบ้านนั้น เราต้องติดอยู่ในรถในถนนเป็นเวลานาน ๆๆ พอกลับถึงบ้านก็รู้สึกอ่อนเพลียไม่อยากทำอะไร รู้สึกว่าอากาศที่เราหายใจเข้าไปนี้มีอ๊อกซิเจนน้อยลงกระมังซึ่งทำให้รู้สึกอ่อนเพลี

เผอิญได้อ่านหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 11 กันยายน นี้เอง พบข่าวที่น่าสนใจ คือ ดร.พิจิตร รัตนกุล ส.ส. กทม. ได้แถลงว่า ขณะนี้ถนนในกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยแก๊สพิษที่เกิดจากรถเมล์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ แก๊สพิษเหล่านี้เป็นมหันตภัยร้ายแรงที่สุดต่อชีวิตของเรา ในตอนเช้า ๆ ขึ้นไปบนตึกสูง ๆ จะเห็นว่า กรุงเทพฯ ปกคลุมด้วยหมอกพิษ

ฉะนั้น กรุงเทพฯ ได้กลายเป็นหุบเหวของหมอกพิษไปแล้ว คนกรุงเทพฯ จะต้องถูกรมควันพิษต่อไป ซึ่งข้อแถลงของ ดร.พิจิตร ก็ตรงกับที่ชาวต่างประเทศซึ่งเข้ามาในประเทศไทยพักอยู่ในโรงแรมชั้นสูง ๆ ในกรุงเทพฯ ในตอนเช้า พบหมอกควันปกคลุมกรุงเทพฯ ครึ้มไปหมด และ ดร.พิจิตร ยังกล่าวด้วยว่าได้รับข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุขว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจในปี 2531 จำนวน 9 แสนคน ที่ไปรับการรักษายังโรงพยาบาลของรัฐ และยังมีจำนวนมากกว่า 10 เท่า ที่ไปรักษาจากสถานพยาบาลของเอกชน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในมหันตภัยที่ประชาชนต้องได้รับ

ถ้าเรามาพิจารณาถึงเรื่องมลพิษในอากาศ หรืออากาศเป็นพิษ เราทุกคนก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อากาศเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิต ตามปกติ อากาศที่เหมาะสมแก่การหายใจควรประกอบด้วย อ๊อกซิเจนประมาณ 21 เปอร์เซ็นต์ ไนโตรเจนประมาณ 78 เปอร์เซ็นต์ และคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ประมาณ 0.03% ที่เหลือเป็นแก๊สอื่น ๆ

ปริมาณของแก๊ส หรือก๊าซดังกล่าว ที่จัดว่าเป็นอากาศบริสุทธิ์ เข้าสภาวะอากาศมีสิ่งอื่น ๆ เจือปนอยู่มากเกินไป จนก่อให้เกิดอันตรายต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ พืช และสัตว์ ตลอดจนทรัพย์สินแล้ว เราเรียกสภาวะดังกล่าวนี้ว่า "อากาศเสีย"

ยกตัวอย่างสิ่งเจือปนที่ทำให้อากาศเสีย เช่น มีปริมาณของฝุ่นละออง แก๊ส หมอกควัน กลิ่น ไอน้ำ เขม่า กัมมันตภาพ อ๊อกไซด์และคาร์บอน อ๊อกไซด์ของกำมะถัน อ๊อกไซด์ของไนโตรเจน ไฮโดรคาร์บอน สารปรอท และละอองตะกั่ว เป็นต้น

ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพฯ มีการจราจรคับคั่ง ประชากรหนาแน่น มีอุตสาหกรรมอยู่ตามชานเมืองมาก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้อากาศเป็นพิษอยู่ในขั้นเป็นอันตราย ทั้งนี้และทั้งนั้นเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เราเองที่เป็นสาเหตุสำคัญของอากาศเสีย ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม ขบวนการผลิตที่ทำให้เกิดฝุ่น กิจกรรมด้านการเกษตร การระเหยของแก๊สบางชนิด และขยะมูลฝอย นอกจากนั้น ก็เกิดจากธรรมชาติ (เช่น ลมพายุที่พัดจากฝุ่นละออง ให้ฟุ้งกระจายขึ้นไปในอากาศ ฝุ่นผงในอากาศ ฯลฯ)

น่าสังเกตที่รถประจำทางและรถบรรทุก จะเห็นรถเหล่านี้ปล่อยควันดำออกมา ถ้าเป็นรถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนบุคคลมักจะปล่อยควันขาวออกมา การเกิดควันดำสาเหตุเนื่องมาจากเครื่องยนต์เก่า ชำรุด บรรทุกน้ำหนักมากเกินกำลัง ต้องเร่งเครื่องซ้ำ ๆ เพื่อออกรถทำให้เกิดการเผาไหม้ของน้ำมันไม่สมบูรณ์จึงมีควันดำและเสียงดังมาก โดยเฉพาะในสภาพการจราจรติดขัดทำให้มีการจอดรถ ออกรถบ่อยครั้ง ควันดำก็ถูกปล่อยออกมามากขึ้น

มีการสำรวจควันดำจากรถเหล่านี้ พบว่ามีถึงร้อยละ 40 โดยประมาณ และปริมาณฝุ่นในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการก็สูงเกินมาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับสุขภาพของประชาชน และก็มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ส่วนควันขาว ส่วนใหญ่เกิดจากรถยนต์ส่วนบุคคลและจักรยานยนต์ซึ่งมีสภาพเครื่องยนต์ไม่เหมาะสม แก๊ส คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ไนโตรเจนอ๊อกไซด์ ละอองตะกั่ว ไฮโดรคาร์บอน และเขม่า จะออกมารวมเป็นไอเสียและควัน จากเครื่องยนต์ของยานพาหนะ สารพิษดังกล่าวนี้มีอันตรายต่อร่างกายมาก นอกจากนี้เขม่า ขี้เถ้า ใยหิน (แสเบสทอส) พิษจากการเผาพลาสติก หมอกควันต่าง ๆ และกัมมันตรังสี เป็นอันตรายต่อชีวิต

ผู้ที่ได้รับมลพิษทางอากาศเข้าไปมาก ๆ จะมีอาการปวดและเวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลม เป็นโรคทางเดินหายใจ หืด หอบ โรคหัวใจและความดันโลหิตสูง นานเข้าสุขภาพเสื่อมโทรม เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งในปอดได้

ตัวอย่างที่พบ มีผู้สูงอายุที่พักอาศัยอยู่ในร้านค้าที่สามแยกเกษตร บางเขน ชอบออกมานั่งที่หน้าร้านในตอนเช้าและตอนเย็นซึ่งมีการจราจรติดขัดโดยนั่งเป็นประจำทุกวัน ปรากฎว่าวันหนึ่งมีอาการหน้ามืดล้มฟุบลงไป ญาติพาส่งโรงพยาบาล ผลปรากฎว่าเป็นเพราะการหายใจเอาสารพิษเข้าไปมาก แม่ค้าที่ขายของอยู่ริมถนนบางลำภู มีอาการเช่นเดียวกัน

คุณหมอวรวิทย์ เล็บนาค หัวหน้างานอาชีวอนามัยของ กทม. ทำการตรวจวัดลมพิษจากอากาศตามจุดต่าง ๆ ที่มีการจราจรคับคั่ง พบว่า จุดที่มีมลพิษอากาศสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ เยาวราช มีมลพิษสูงถึง 40 หน่วย รองลงมาที่ ราชประสงค์ 32 หน่วย ประตูน้ำ 31 หน่วย พาหุรัด 21 หน่วย และบางลำภู 25 หน่วย ซึ่งตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ 25 หน่วย ถ้าเกินกว่านี้ถือว่าเป็นอันตราย

น่าจะมีนักวิจัยทำการวัดอ๊อกซิเจน ตามจุดต่าง ๆ ที่มีการจราจรคับคั่งดูบ้างว่า เราเหลืออ๊อกซิเจนสำหรับหายใจอยู่เท่าไรถ้าอ๊อกซิเจนเหลือน้อยลงมีแต่แก๊สพิษ ร่างกายเราคงจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพที่เปลี่ยนแปลง อีก 100 ปี ข้างหน้า วิวัฒนาการของมนุษย์คงจะเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพที่ดี อ๊อกซิเจนน้อยหรือไม่มีเลย ฉะนั้น เรามนุษย์ต่อไปคงจะไม่มีรูปร่างหน้าตาเช่นนี้

มีข่าวที่เกิดขึ้นในบ้านเราเกี่ยวกับแก๊สพิษ เมื่อหลายปีมาแล้วเช่น แก๊สคลอรีน ที่ระเหยออกมาจากกระบวนการทำน้ำประปา บริเวณถนนประชาชื่น ในกรุงเทพฯ ทำให้นักเรียนในบริเวณนั้นเจ็บป่วยทันทีกว่า 100 คน
ควันพิษของกำมะถันไดอ๊อกไซด์ จากโรงงานทำน้ำกรดไทย อำเภอเมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งผลิตกรดกำมะถัน ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต่างก็เป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง แก๊สพิษนี้ ยังทำให้เกิดการสึกกร่อนของตึกรามบ้านช่อง ทำลายวัดวาอาราม โบราณสถาน นอกจากนี้สังเกตดูเห็นว่า ต้นไม้ที่ปลูกในบริเวณเหล่านี้ รวมทั้งบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น มักจะแคระแกร็น มีการเจริญเติบโตช้าถึงตายได้

วิธีการป้องกันมลพิษในอากาศจากยวดยานพาหนะ และโรงงานอุตสาหกรรมมีหลายประการ กล่าวคือ
- รถยนต์ทุกชนิดควรได้รับการซ่อมแซมตรวจตราให้อยู่ในสภาพที่ดีมีการ ปล่อยแก๊สพิษ ควันดำ ควันขาว ออกจากท่อไอเสียน้อยที่สุด
- ผู้โดยสารรถยนต์ ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ เช่น ตำรวจ จราจร ควรมีผ้าเช็ดหน้าที่สะอาดปิดปากปิดจมูก เมื่อมีการจราจรติดขัด และมีมลพิษทางอากาศ ที่เกิดจากท่อไอเสียรถยนต์
- ควรมีการตรวจสุขภาพร่างกายของเจ้าหน้าที่ เช่น ตำรวจจราจร ปีละครั้ง
- บ้านเรือนและอาคารต่าง ๆ ควรสร้างให้มีการถ่ายเทอากาศได้สะดวก ไม่ ควรสร้างตึกสูง ๆ ติดต่อกัน จนไม่มีช่องให้ลมพัดผ่านได้สะดวก
- โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ควรย้ายไปตั้งให้ไกลจากตัวเมือง "ปรากฎการณ์เรือนกระจก" นั้น เกิดจากการเพิ่มขึ้นของแก๊สคาร์บอนไดอ๊อก ไซด์ในบรรยากาศของโลก โดยธรรมชาติพลังงานความร้อนที่ส่งออกไปจากโลก ความสมดุลของพลังงานในลักษณะนี้ จะเป็นตัวกำหนดอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกให้คงที่ (ดังเช่นในปัจจุบัน คือ ประมาณ 13 องศา)

แก๊สคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 0.03% ในบรรยากาศทั้งหมดนี้ มีคุณสมบัติในการดูดและสะท้อนความร้อนที่ถูกส่งออกไปจากโลกกลับสู่ผิวโลกอีก ดังนั้นคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ซึ่งมีบทบาทที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกขึ้น ที่เรียกเช่นนี้ เพราะปรากฎการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นเหมือนกับในเรือนกระจกสำหรับปลูกหรือเพาะชำต้นไม้ในประเทศหนาว คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ จะทำหน้าที่เหมือนกับกระจก คือ เมื่อแสงอาทิตย์ส่องผ่านเข้าไปในเรือนกระจก จะทำให้เกิดความพร้อมขึ้นภายในแต่ความร้อนในเรือนกระจกนั้น คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่มีปริมาณมากขึ้นนี้ก็เนื่องจากในปัจจุบันมีการใช้พลังงานกันมาก ซึ่งพลังงานเหล่านั้นก็ได้มาจากการเผาน้ำมัน และถ่านหินกัน ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นก็คือ คาร์บอนไดอ๊อกไซด์

นอกจากนี้ปัญหาการทำลายป่าที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั่วโลกทำให้ปริมาณการใช้คาร์บอนไดอ๊อกไซด์จากบรรยากาศ ไปสังเคราะห์แสงโดยพืชลดลง เป็นผลทำให้คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในอากาศมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจากที่มีอยู่ในธรรมชาติ

นักวิทยาศาสตร์ได้คำนวณพบว่า ปริมาณของคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในบรรยากาศจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าใน พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) หรืออีก 25 ปี และจะมีค่าสูงสุดประมาณ 7-8 เท่าของปริมาณที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติใน พ.ศ. 2643 (ค.ศ. 2100) หรือ 110 ปี นอกจากนั้นยังมีการศึกษาและทำนายต่อไปว่า การเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในบรรยากาศของโลกเป็น 2 เท่านั้น จะมีผลทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกเพิ่มขึ้น 2-3 องศาเซลเซียส

แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า อุณหภูมิของผิวโลกจะไม่เพิ่มขึ้นแต่กลับจะลดลงด้วยซ้ำไป เนื่องจากฝุ่นละอองและเขม่าควันเพิ่มมากขึ้นในบรรยากาศของโลก เนื่องจากการเผาไหม้น้ำมันและถ่านหินส่วนหนึ่ง และจากการระเบิดของภูเขาไฟอีกส่วนหนึ่ง ทั้งฝุ่นละอองและเขม่าควันดังกล่าวจะเป็นตัวกั้นพลังงานจากดวงอาทิตย์เข้าสู่โลกลดลง จะมีผลทำให้โลกเย็นลง

ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอุณหภูมิของผิวโลกแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็ตาม จะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบดินฟ้าอากาศและระบบนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิตในโลกนี้เป็นอย่างมากเกี่ยวกับการผลิตอาหารของมนุษย์ เนื่องจากปริมาณของฝนและอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอีกเล็กน้อย ภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลกก็จะเริ่มละลาย ทำให้ระดับน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น หากเป็นเช่นนั้นแล้วอาณาบริเวณที่อยู่ใกล้ระดับน้ำทะเล เช่น กรุงเทพฯ จะถูกกระทบกระเทือนอย่างมาก

เท่าที่กล่าวมานี้ก็เป็นมลพิษในอากาศ ซึ่งเราทุกคนต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันนี้เรายังต้องพบกับมลพิษของน้ำ ดิน เสียง แสง และอื่น ๆ อีกมาก นักวิชาการจึงได้ร่วมกันจัดประชุมนานาชาติภาคพื้นเอเซีย-แปซิฟิค ในเรื่อง ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์เขตร้อน เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง ในระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม 2535 โดยสาขาวิทยาสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ และกรมป่าไม้

วัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนา ก็เพื่อประมวลความรู้และแนวความคิดเกี่ยวกับผลที่เกิดต่อระบบนิเวศน์ของภูมิภาคเขตร้อนอันเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อวิเคราะห์จำแนกประเภท และวิธีการวิถีทางของความเปลี่ยนแปลงที่มีต่อระบบนิเวศน์เขตร้อน

จากนั้นก็จะทำการสรุปประเมินหาข้อวินิจฉัยและมาตรการในการป้องกันและแก้ไข ตลอดจนแนวทางศึกษา ค้นคว้า และวิจัย เพื่อลดภาวะวิกฤติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย


ที่มา : รวบรวมจาก ศาสตราจารย์ ดร. สุทัศน์ ยกส้าน , วิทยาศาสตร์น่ารู้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี