การสูดเอาฝุ่นละอองของสารหนูชนิดอินทรีย์ หรือก๊าซซึ่งมีส่วนประกอบของสารหนู
มีการใช้สารหนูในทางอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและการแพทย์ โดยเฉพาะใช้ในด้านเกษตรกรรมเป็นยาฆ่าแมลงและปราบศัตรูพืช
โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้สารหนูก็ได้แก่ โรงงานย้อมผ้า โรงงานทำสี ทำดอกไม้เพลิง
โรงงานพิมพ์ดอกผ้า โรงงานผลิตแก้ว โรงงงานผสมตะกั่วกับสารหนู เพื่อให้เนื้อตะกั่วแข็งขึ้น
โรงงานทำผงซักฟอก ถ้าคนงานสูดหายใจเอาก๊าซซึ่งมีส่วนประกอบของสารหนูเข้าไปจะมีอาการ
คือ
อาการทางทางเดินหายใจ ทำให้ระคายเคืองต่อเนื้อเยี่อเมื่อสูดหายใจเข้าไปบ่อยๆนานๆ
ทำให้เยื่อบุกั้นจมูกทะลุ ติดต่อกันได้โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด น้ำมูกแห้ง
คอแห้ง เสียงแหบ เกิดมะเร็งที่ปอด
อาการทางผิวหนัง ฝุ่นปลิวถูกผิวหนังจะไปรวมอยู่ที่รอยพับที่ชื้นแฉะของผิวหนัง
เช่น รอบๆ จมูก รอบๆ ปาก บริเวณรักแร้และขาหนีบ ทำให้เกิดระคายเคือง
อักเสบบวมแดงเป็นตุ่มแข็งใส พองหรือผิวหนังแข็งด้าน หรือเป็นหูดซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งที่ผิวหนังได้
อาการทางตา จะเกิดอาการตาแดง ตาอักเสบ เพราะถูกรบกวนจนกระทั่งเส้นโลหิตฝอยแตก
อาการทางระบบประสาท เนื่องจากสารหนูเข้าไปสู่ระบบการไหลเวียนของโลหิต
ซึ่งจะมีผลต่อน้ำย่อยที่ช่วยในระบบเผาผลาญของร่างกาย ทำให้การทำงานเสียไป
ปลายประสาทอักเสบแขนขาชาและเป็นอัมพาตในที่สุด
อาการทางสมอง ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อสมอง
กระสับกระส่าย ความจำเสื่อม
อาการอื่น ๆ เช่น เกิดอาการทางตับ
สารประกอบอนินทรีย์ นี้สามารถที่จะทำลายตับได้ ในรายที่กินสารประกอบของสารหนูเข้าไปเป็นเวลานาน
จะทำให้เกิดการตับแข็ง ตับอักเสบ
มาตรฐานสารประกอบของสารหนู
สารประกอบอนินทรีย์ของสารหนูในรูปของไอระเหยควัน หรือฝุ่นมีไม่ควรเกิน 0.5
มิลลิกรัม ต่ออากาศลูกบาศก์เมตร หรือในรูปของก๊าซอาร์ซีนมีไม่ควรเกิน 0.2
มิลลิกรัม/อากาศลูกบาศก์เมตร หรือ 0.05 ส่วนในล้านส่วนของอากาศ
สารหนูชนิดอินทรีย์ เป็นสารที่เป็นพิษมาก
ส่วนมากใช้เป็นก๊าซพิษในสงคราม คนที่แพ้พิษก๊าซนี้ก็มักเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตก๊าซพิษนี้
สารอินทรีย์
(Organic Arsenic) ในกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. อลิฟาติค อาร์ซีน (Aliphatic Arsine)
ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแดง และมีเม็ดใสพุพองเกิดขึ้น ถ้าหากสูดหายใจเข้าไปจะทำให้เกิดความระคายเคืองต่อปอด
ไอ หายใจแน่นอึดอัด
2. อโรเมติค อาร์ซีน (Aeromatic Arsine) ทำให้เกิดอาการเหมือนกลุ่มแรก
แต่จะมีอาการจามอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นมาอีกอาการหนึ่ง
3. เฮดเทโรไซคริค อาร์ซีน (Hetarocyclice Arsine)
มีฤทธิ์ต่อปอดและทำให้เกิดการจามอย่างรุนแรงกว่า 2 กลุ่มแรก
ที่มา : รวบรวมจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.วิจิตร บุณยะโหตระ ,ชีวิตและสิ่งแวดล้อม