สารเป็นพิษ


สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลและความสำคัญอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของคนและสัตว์ทั้งหลาย  เพราะสภาวะแวดล้อมที่เป็นอยู่รอบ ๆ ตัวเราเป็นธรรมชาติที่จุนเจือเอื้ออำนวยและบันดาลให้เกิดสรรพสิ่งมีชีวิตบนพื้นพิภพนี้  ธรรมชาติดังกล่าว  ได้แก่  ดิน  อากาศ  แสงแดด  น้ำ  ธาตุ  พืชพันธุ์ธัญญาหาร และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ดังนั้น  คุณภาพของชีวิตเป็นปกติสุขสมบูรณ์ได้ย่อมขึ้นกับสภาวะแวดล้อมที่มีคุณภาพเหมาะสมอย่างแท้จริงเสมอ  นับตั้งแต่อดีตตราบจนปัจจุบัน  เรื่องเกี่ยวกับสารเป็นพิษนั้นไม่ค่อยมีผู้ให้ความสนใจ ยกเว้นเมื่อมีเหตุวิบัติพร้อมเจ็บป่วยพิการล้มตาย  เนื่องจากสารพิษขึ้นเป็นครั้งคราว   หลังจากนั้นทุกอย่างก็ค่อย ๆ   เลือนหายไปจากความทรงจำ

สารเป็นพิษเป็นสารที่ร่างกายได้รับแล้วเกิดความผิดปกติทันที หรือสารที่สะสมไว้จำนวนหนึ่งในจำนวนที่มากเกินพอ  ทำให้เกิดอันตรายทำลายชีวิต

การเข้าสู่ร่างกายของสารพิษ

รูปควันพิษ


สารพิษเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ
        1.  ทางจมูก  ด้วยการสูดดมไอของสาร  ผลคือละอองของสารพิษปะปนเข้าไปกับลมหายใจ  สารพิษบางชนิดจะมีฤทธิ์กัดกร่อน  ทำให้เยื่อจมูกและหลอดลมอักเสบหรือซึมผ่านเนื้อเยื่อเข้าสู่กระแสโลหิตทำให้โลหิตเป็นพิษ
        2.  ทางปาก  อาจจะเข้าปากโดยความสะเพร่า  เช่น  ใช้มือที่เปื้อนสารพิษหยิบอาหารเข้าปากหรือกินผักผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างอยู่ หรืออาจจะจงใจกินสารพิษบางชนิดเพื่อฆ่าตัวตาย  เป็นต้น
        3.  ทางผิวหนัง  เกิดอาการสัมผัสหรือจับต้องสารพิษ  สารพิษบางชนิดสามารถซึมผ่านทางผิวหนังได้เพราะเข้าไปทำปฏิกิริยาเกิดเป็นพิษแก่ร่างกาย

สารพิษเมื่อเข้าสู่ร่างกายทางใดก็ตาม  เมื่อมีความเข้มข้นพอจะมีปฏิกิริยา ณ จุดสัมผัสและซึมเข้าสู่กระแสโลหิต  ซึ่งจะพาสารพิษไปทั่วร่างกายความสามารถในการสู่กระแสโลหิตนั้นขึ้นอยู่กับคุณสมบัติการละลายของสารพิษนั้น  สารพิษบางชนิดอาจถูกร่างกายทำลายได้  บางชนิดอาจถูกขับถ่ายออกทางไต  ซึ่งจะมีผลกระทบต่อทางเดินปัสสวะและกระเพาะปัสสวะบางชนิดอาจถูกสะสมไว้  เช่น  ที่ตับ  ไขมัน  เป็นต้น

ประเภทของสารเป็นพิษ

   1.  สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สารพิษประเภทนี้แบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
           1.1  ยาฆ่าแมลง  คือสารเคมีที่ใช้ในการป้องกันและกำจัดแมลงและหนอนที่เป็นศัตรูพืช  สัตว์และมนุษย์  มีทั้งที่อยู่ในรูปสารประกอบอินทรีย์  ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองในธรรมชาติหรือสังเคราะห์ขึ้น  ยาฆ่าแมลงที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
               1.1.1  กลุ่มออแกโนคลอรีน  ได้แก่  ดีดีที  อัลดริน  ดีลดริน  เมื่อได้เป็นจำนวนมาก  จะทำให้เกิดอาการหน้ามืด  เวียนศีรษะ  ท้องร่วง  อาจเกิดหัวใจวายและตายได้  แต่ถ้าได้รับ  ในปริมาณน้อย ๆ ค่อย ๆ สะสมในร่างกายจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งเนื้องอกได้
               1.1.2  กลุ่มออแกโนฟอสเฟต  ได้แก่  พาโรไธออน  มาลาไธออน  ถ้าได้รับปริมาณมากจะทำให้หมดสติ  น้ำลายฟูมปาก  อุจจาระ  ปัสสวะร่วง  กล้ามเนื้อกระตุก และหยุดหายใจ
               1.1.3  กลุ่มคาร์มาเมต  ได้แก่  คาร์บอริล  ไบกอน  สารพิษกลุ่มนี้  จะมีพิษสูงต่อผึ้งและปลา
                1.1.4  กลุ่มไพรีทรอย  ได้แก่  แอมบุช  เดซิล  สารพิษกลุ่มนี้มีพิษต่อมนุษย์และสัตว์เลือดอุ่นค่อนข้างน้อย
       2.  สารเคมีปราบวัชพืช เป็นสารเคมีทำใช้ในการป้องกันและกำจัดวัชพืชปัจจุบันสารเคมี ปราบวัชพืชมีจำหน่ายอยู่มากกว่า 150 ชนิด  หลายสูตรและมีประสิทธิภาพ  ตกค้างอยู่ในดินในสภาวะที่เหมาะสมได้เป็นเวลานาน  สารพวกนี้  ได้แก่  พาราควอต  คาราฟอน  อะตราชีน
       3.  สารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา เป็นสารที่ใช้ป้องกันกำจัดเชื้อราที่พืชพันธุ์ธัญญาหารเมล็ด  พืชผัก  ผลไม้ตลอดจนเชื้อรา  ที่ขึ้นอยู่ตามผิวดินสารประเภทนี้มีมากกว่า 250 ชนิด  ได้แก่  คอปเปอร์ซัลเฟต  แอนทราโคล  โลนาโคล  แมนเซทดี
       4.  สารเคมีปราบสัตว์แทะ เป็นสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดหนู และสัตว์บางชนิด  มีพิษร้ายแรงมากทำให้คลื่นไส้  อาเจียน  ปวดท้อง  ท้องเดิน  วิงเวียนศีรษะ  กระสับกระส่าย  ได้แก่  ซิงค์  ฟอลไฟด์  วาฟาริน

อันตรายจากการใช้สารเป็นพิษ




การใช้สารพิษอย่างไม่ถูกต้องมีอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมนี้
        1.  ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้โดยตรง ได้แก่
            เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพในโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารพิษและประชาชนทั่ว ๆ ไป  ทั้งนี้เนื่องมาจากขาดความรู้เข้าใจในการใช้และป้องกันอันตรายจากสารพิษอย่างถูกต้อง  จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุ  เช่น  สารพิษที่ใช้อาจถูกร่างกายของผู้ใช้หรือหายใจเอาก๊าซพิษที่รั่วสู่บรรยากาศเข้าไปทำให้เกิดอันตรายหรือเจ็บป่วยถึงชีวิตได้ในทันที หรือสะสมสารพิษในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้สุขภาพทรุดโทรม  เกิดโรคภัยร้ายแรงขึ้นได้ภายหลัง
        2.  ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชน และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งที่มีการใช้สารพิษ
           ทั้งนี้เนื่องจากสารพิษที่ใช้หรือที่เกิดจากกระบวนการผลิตถูกปลดปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ในปริมาณสูงจนอาจเกิดอันตรายต่อผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณรอบ ๆ  ซึ่งต้องรับสารพิษเข้าไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
       3.  ทำให้สภาวะสมดุลตามธรรมชาติเสียไป เนื่องจากศัตรูธรรมชาติ เช่น ตัวห้ำ  ตัวเบียฬ
            ที่มีประโยชน์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช  ศัตรูมนุษย์และสัตว์ถูกสารพิษทำลายหมด ไป  แต่ขณะเดียวกันศัตรูที่เป็นปัญหา  โดยเฉพาะพวกแมลงศัตรูพืชสามารถสร้างความ ต้านทานสารพิษขึ้นได้ทำให้เกิดปัญหาการระบาดเพิ่มมากขึ้น หรือศัตรูพืชที่ไม่ค่อย
        ระบาด  ก็เกิดระบาดขึ้นมาเป็นปัญหาในการป้องกันกำจัดมากขึ้น
       4.  ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของนก  ปลา  สัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ  แมลงที่มีประโยชน์ เช่น  ผึ้ง  พบว่ามีปริมาณลดน้อยลงจนบางชนิดเกือบสูญพันธุ์  ทั้งนี้เนื่องจากถูกทำลายโดยทางพิษที่ได้รับเข้าไปทันที หรือสารพิษที่สะสมในร่างกายของสัตว์เหล่านั้น  มีผลให้เกิดความล้มเหลวในการแพร่ขยายพันธุ์
        5.  ทำให้เกิดอันตรายแก่สิ่งมีชีวิต และมนุษย์ในระยะยาว เนื่องจากการได้รับสารพิษซึ่งกระจายตกค้างอยู่ในอาหารและสิ่งแวดล้อม  เข้าไปสะสมไว้ในร่างกายทีละน้อยจนทำให้ระบบ และวงจรการทำงานของร่างกายผิดปกติ  เป็นเหตุให้เกิดโรคอันตรายขึ้นหรือบางครั้งอาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์หรือเกิดความผิดปกติในรุ่นลูกหลานขึ้นได้
        6.  ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจขึ้นกับประเทศชาติ เนื่องจากการเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชนทำให้ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอีกด้วย  นอกจากนี้ยังมีปัญหาไม่สามารถส่งอาหารผลิตผลและผลิตภัณฑ์การเกษตรออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้  เนื่องจากมีสารพิษตกค้างอยู่ในปริมาณสูง  เกินปริมาณที่กำหนดไว้ทำให้สามารถที่จะนำมาพัฒนาประเทศ
        7.  ทำให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่ ปริมาณสารพิษที่ถูกปล่อยและตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม  เช่น  สารพิษโลหะหนักในแหล่งน้ำ หรือก๊าซพิษที่ผสมอยู่ในชั้นบรรยากาศทำให้  คุณภาพของสิ่งแวดล้อมเสียหายไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต

วิธีการป้องกันสารเป็นพิษ


รูปสารพิษ



        1.  พยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเป็นพิษเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ
        2.  ควรศึกษาให้เข้าใจถึงอันตรายและวิธีการใช้สารเคมีแต่ละชนิด
        3.  ใช้เครื่องมือ  อุปกรณ์  เพื่อการป้องกันอันตรายขณะที่มีการทำงานหรือเกี่ยวข้องกับสารเคมี
        4.  ควรมีการตรวจสุขภาพ  สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีอย่างน้อยปีละครั้ง
        5.  หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้บริเวณที่มีการใช้สารเคมีเพื่อป้องกันสารเป็นพิษเข้าสู่ร่างกายทางปาก  จมูก และผิวหนัง
        6.  เมื่อมีการใช้สารเคมี  ควรอ่านฉลากกำกับโดยตลอดให้เข้าใจก่อนใช้ และต้องปฏิบัติตามคำเตือนและข้อควรระวังโดยเคร่งครัด
        7.  อย่าล้างภาชนะบรรจุสารเคมีหรืออุปกรณ์เครื่องพ่นยาลงไปในแม่น้ำ  ลำธาร  บ่อ  คลอง  ฯลฯ
        8.  ภาชนะบรรจุสารเคมีเมื่อใช้หมดแล้วให้ทำลายและฝังดินเสีย
        9.  ให้ความร่วมมือกับทางราชการในการควบคุมตลอดจนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์


ที่มา : รวบรวมจาก หนังสือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม