ผักปลัง

ผักปลังมีชื่อพื้นเมืองเรียกแตกต่างกันไป เช่น ภาคกลางเรียกผักปลัง ภาคเหนือออกเสียงเป็น ผักปั๋ง และจีนเรียก โปเด้งฉ้าย
         ชื่อสามัญคือ Malabar Nightshade, East Indian Spinach, Ceylon Spinach
         ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Basella alba Linn อยู่ในวงศ์ BASELLACEAE

ผักปลังเป็นไม้เลื้อยที่มีเถายาวหลายเมตร ลำต้นอวบน้ำ ไม่มีขน แตกกิ่งก้านสาขาได้มาก
ลำต้น ลำต้นมีสีเขียวหรือสีม่วงแดง หากมีสีเขียว เรียกว่า "ผักปลังขาว" สีม่วงแดงเรียกว่า "ผักปลังแดง" แผ่นใบอวบน้ำ มีรูปร่างคล้ายรูปไข่ป้อม หรือรูปหัวใจ หรือกลม ใบกว้าง 2-6 ซม. ยาว 2.5-7 ซม. ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นมันเกลี้ยง เมื่อขยี้ดูจะเป็นเมือกเหนียว
ดอก ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบ หากเป็นผักปลังขาว ดอกจะเป็นสีขาว ผักปลังแดง ดอกจะมีสีขาวอมชมพู ช่อดอกยาว 2-8 นิ้ว ไม่มีก้านดอก กลีบดอกมีฐานติดกัน ปลายแยกออกเป็น5 กลีบ
ผล ผลมีรูปร่างกลม ฉ่ำน้ำ ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ผลแก่สีม่วงอมดำ เนื้อนิ่ม ภายในผลมีน้ำสีม่วงหรือดำ
ผักปลังขึ้นได้เองตามที่ชุ่มชื้นทั่วไป ออกดอกเกือบตลอดปี ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดปลูกตามริมรั้ว หรือสร้างค้างให้เลื้อย
ต้น ใบ ดอก ราก ผลของผักปลังใช้เป็นยาได้ ต้นแก้ขัดเบา แก้ท้องผูก ลดไข้ ใบแก้อักเสบ กลาก ผื่นคัน ฝีและขับปัสสาวะ ดอกแก้เกลื้อน รากแก้มือเท้าด่าง แก้รังแค แก้พิษพรรดึก ใช้ทาถูนวดให้ร้อนเพราะมีเลือดมาหล่อเลี้ยงมากขึ้น ผลสีม่วงใช้แต่งสีอาหาร
ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อนของผักปลัง รสเย็น จืด รับประทานเป็นผักได้โดยนำไปต้ม ลวก หรือนึ่งให้สุก ใช้แกล้มกับน้ำพริก หรือนำไปแกงแค แกงส้ม แกงปลา ผักกับแหนม หรือใส่แกงอ่อมหอยก็ได้
นอกจากนี้ ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อน ใช้เป็นยาระบายอย่างอ่อน

จากคอลัมภ์ รู้ไว้ใช่ว่า เดลินิวส์ 16 มิ.ย. 2542