ไอโอดีนเท่าไร?...จึงพอดี

ไอโอดีนมีสัญลักษณ์ เป็นธาตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีสีเขียวดำและเป็นพิษ ใช้เป็นสารกัมมันตรังสีในการตรวจรักษาโรคไทรอยด์ หรือใช้ผสมเป็นยาฆ่าเชื้อโรค เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน ในอาหารไอโอดีนจะไม่อยู่ในรูปที่เป็นธาตุ แต่จะอยู่ในรูปของเกลือไอโอดีน (iodide) หรือเกลือไอโอเดต (iodate) ร่างกายไม่สามารถสร้างธาตุนี้ได้ จะต้องได้รับจากอาหารเท่านั้นซึ่งมีอยู่มากในอาหารทะเล พบว่าโรคคอพอกสัมพันธ์กับการขาดอาหารทะเลและไอโอไดด์

ความสำคัญของไอโอไดด์/ไอโอดีน

ไอโอไดด์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมไทรอยด์ มีชื่อเรียกว่าไทรอกซิน (Thyroxin) หรือไทรอยด์ฮอร์โมน ต่อมไทรอยด์จะดูดซึมไอโอไดด์จากกระแสเลือดที่ได้รับจากอาหารที่รับประทานแล้ว นำมารวมกับกรดอะมิโนไทโรซีน (tyrosine) แล้วสร้างเป็นไทรอยด์ฮอร์โมน ไอโอไดด์เกือบทั้งหมดในร่างกายจะอยู่ที่ต่อมไทรอยด์นี้ และมีอยู่ในกระแสเลือดเพียง 8-15 ไมโครกรัม/ 100 มิลลิลิตร

ไทรอยด์ฮอร์โมนมีหน้าที่สำคัญต่อระบบแมเทบอลิซึมของร่างกาย การเผาผลาญอาหารเพื่อให้พลังงานแก่ร่างกายทำให้เรากระฉับกระเฉง ทำงานต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเซลล์ จึงช่วยทำให้การพัฒนาและการเจริญเติบโตของเด็ก ช่วยการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ตับ กล้ามเนื้อ ฯลฯ การขาดฮอร์โมนนี้จึงเป็นปัญหามากโดยเฉพาะในเด็ก

อาการของโรคขาดสารไอโอดีนหรือไอโอไดด์

ถ้าร่างกายได้รับไอโอไดด์ไม่พอเพียงจากอาหารที่รับประทาน ผลก็คือฮอร์โมนไทรอกซินจะไม่ถูกผลิตขึ้นตามปกติ อาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดคือ มีอาการอ่อนเพลีย เชื่องช้า ง่วงซึมผิวหนังแห้ง หนาวง่าย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีอาการคอพอก ซึ่งมาจากต่อมไทรอยด์ที่โตขึ้น

สาเหตุที่ต่อมไทรอยด์โตขึ้นเนื่องจากถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น โดยพยายามที่จะดูดเอาไอโอดีนที่มีอยู่ในกระแสเลือดให้ได้มากที่สุด ฮอร์โมนที่กระตุ้นต่อมไทรอยด์นี้หลั่งมาจากต่อมใต้สมอง มีชื่อเรียกว่า Thyroid stimulating hormone (TSH) ตามปกติสารกระตุ้นต่อมนี้จะถูกยับยั้งการสร้างโดยฮอร์โมนไทรอกซิน เมื่อต่อมไทรอยด์สร้างไทรอกซินไม่ได้ เพราะไอโอดีนไม่พอทำให้ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์นี้ถูกสร้างให้เพิ่มมากขึ้นจากต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ใต้คอจะโตขึ้นๆ อาการขาดไอโอดีนและมีผลให้ต่อมไทรอยด์โตนี้เรียกว่า คอพอกหรือโรคคอพอก (Goiter) ถ้าโตเพียงเล็กน้อยอาจเห็นไม่ชัดโดยเฉพาะในเด็กวัยเรียน แต่ถ้าให้แหงนคอขึ้นและใช้มือคลำก็พบอาการเหล่านี้ได้ง่าย

จากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า โรคนี้มักเกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และถ้าหญิงนั้นขาดไอโอไดด์ หรือไอโอดีนช่วงตั้งครรภ์ในระยะแรก เด็กที่เกิดมาอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโต กระดูกไม่เติบโต ทำให้แคระแกรน ระบบประสาท และสมองไม่พัฒนา ทำให้สมองและปัญญาอ่อน หูหนวก ขาแข็ง กระตุก ภาษาชาวบ้านเรียก โรคเอ๋อ

โรคขาดไอโอดีนในประเทศไทยพบในประชาชนที่อาศัยอยู่ในแถบภูเขาถิ่นทุร- กันดารห่างจากทะเล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ อาทิเช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยโสธร เชียงราย เลย และตาก ในต่างประเทศ เช่นประเทศในทวีปอเมริกากลาง

การป้องกันโรคขาดไอโอดีน

ง่ายที่สุดคือ รับประทานอาหารที่มีไอโอไดด์อยู่ให้พอเพียง อาหารที่มีไอโอไดด์สูงได้แก่ อาหารทะเลทุกชนิด ปลาทะเล ปู หอย สาหร่ายทะเล หรือพืชที่อยู่ริมทะเล

เกลือที่ได้จากทะเลไม่มีไอโอไดด์อย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะขั้นตอนในการทำเกลือทะเลนั้นทำให้ไอโอไดด์สูญสลายเสียไปหมด ส่วนเกลือสินเธาว์นั้นก็ไม่มีไอโอไดด์ เช่นกัน ในหลายๆ ประเทศจึงมีการเติมสารไอโอไดด์นี้ในเลือดเพื่อป้องกันการขาดธาตุไอโอดีน

เราจำเป็นต้องได้รับไอโอดีนเท่าใดจึงพอดี

ในร่างกายปกติ ระดับของไอโอไดด์ในเลือดจะมีค่าประมาณ 8 - 15 ไมโครกรัม/ 100 มิลลิลิตร และจับกับพลาสมาโปรตีนอยู่ประมาณ 6 - 8 ไมโครกรัม/ 100 มิลลิลิตร ควรรับประทานไอโอดีนให้ได้วันละ 150 ไมโครกรัมต่อวัน แต่ถ้ารับประทานเพียงวันละ 50 ไมโครกรัมก็สามารถที่จะป้องกันโรคคอพอกได้

ดังนั้นถ้าวันหนึ่งเรารับประทานเกลือ(เสริมไอโอดีน)โดยเฉลี่ย 2 กรัม จะได้รับไอโอดีนวันละ 60 ไมโครกรัม ซึ่งพอเพียงที่จะป้องกันการเกิดโรคจากการขาดไอโอดีนหรือโรคคอพอกได้
โดย วิไล เทียนรุ่งโรจน์ หนุนภักดี ฉลาดซื้อ ปีที่ 5 ฉบับที่ 29 ก.พ. - มี.ค. 2542 (44 - 46)