Automatic ID ระบบเพื่องานธุรกิจ

ในระบบธุรกิจหรือการทำงานแทบจะทุก ๆ ด้าน ในปัจจุบันได้มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง เพื่อที่จะได้เป็นผู้นำทางด้านธุรกิจหรือประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งก็หมายถึงผลกำไรที่จะได้ตามมานั่นเอง ในการที่จะได้เป็นผู้นำหรือประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ทำให้องค์กรหรือบริษัทต่าง ๆ ได้นำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเสริมประสิทธิภาพในการทำงานหรือปรับปรุงองค์กรในส่วนต่าง ๆ ซึ่งโดยพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจที่จะประสพความสำเร็จแล้วก็คือการคำนึงถึงลูกค้าเป็นหลัก โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสินค้าหรือการให้บริการ ซึ่งทั้งสองส่วน ส่วนที่ผู้ดำเนินธุรกิจที่ประสบความสำเร็จให้ความสำคัญคือ การให้บริการลูกค้า ซึ่งการให้บริการลูกค้าสามารถทำได้หลายวิธี แต่สิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุดคือ ความรวดเร็วและความถูกต้องของสินค้าที่ต้องการ ดังนั้นในหลาย ๆ องค์กรหรือหลายบริษัทจึงได้หาวิธีที่จะให้บริการลูกค้าในด้านความรวดเร็วและความถูกต้องของสินค้า และวิธีที่ว่านี้ก็คือการนำเอาระบบ Automatic Identification หรือ Automatic ID เข้ามาใช้ ซึ่งระบบ Automatic ID ที่จะนำมาใช้นี้มีอยู่หลายรูปแบบซึ่งเหมาะสำหรับงานแต่ละประเภท ดังนั้นเราจะมาศึกษาระบบ Automatic ID เพื่อจะได้เลือกนำมาประยุกต์ใช้งานในองค์กร เพื่อเสริมประสิทธิภาพขององค์กร


รูปที่ 1 แสดงเครื่องอ่านรหัสบาร์โค้ดแบบมือถือ

Automatic ID คืออะไร

ก่อนที่จะพูดถึงระบบ Automatic ID ให้มากกว่านี้ จะขอพูดถึงความหมายของระบบ Automatic ID ก็คือระบบ ๆ หนึ่งที่เป็นการนำเอาข้อมูลหรืออินพุทเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ โดยที่ไม่ต้องนั่งป้อนข้อมูลผ่านทางแป้นพิมพ์ดังเช่นแต่ก่อน ซึ่งมีความผิดพลาดสูงมาก เพราะถึงแม้จะใช้ผู้ที่มีความชำนาญในการป้อนข้อมูลก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น การป้อนรหัสของสินค้าซึ่งเป็นตัวเลขทั้งหมด 13 หลัก ซึ่งความเป็นไปได้ในการที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมดแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เป็นต้น ดังนั้นเมื่อนำข้อมูลที่ได้ไปประมวลผลหรือทำงานจึงได้ข้อมูลที่ผิดพลาด ดังนั้นจึงต้องหาวิธีที่จะป้อนข้อมูลเข้าเครื่องให้ถูกต้องที่สุดและการนำเอาระบบ Automatic ID มาใช้งานจึงเป็นทางออกของการแก้ปัญหานี้ ซึ่งระบบ Automatic ID ที่เราพบเห็นกันมากที่สุดก็คือระบบบาร์โค้ด (Bar-Code) ที่ใช้กันในซุปเปอร์มาร์เก็ต
โดยหลักการพื้นฐานของระบบ Automatic ID และจะใช้หลักการที่ว่าวัตถุหรือสิ่งของต่าง ๆ จะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเราจะจัดแบ่งกลุ่มต่าง ๆ ของวัตถุหรือสิ่งของออกเป็นกลุ่ม เป็นหมวดหมู่เพื่อให้ได้คุณสมบัติเฉพาะขึ้นมาอีกก็ได้ ดังนั้นเมื่อวัตถุหรือกลุ่มของสิ่งต่าง ๆ มีคุณสมบัติที่เป็นเอกเทศหรือเฉพาะตัวแล้ว จะทำให้เกิดความสะดวกในหลาย ๆ ด้าน เช่น การเรียกสิ่งของเหล่านั้น การตรวจนับ การตรวจเช็ค ฯลฯ ดังนั้นจากจุดนี้เองจึงเป็นที่มาของระบบ Automatic ID

Automatic ID ช่วยอย่างไร

การนำเอาระบบ Automatic ID เข้ามาใช้จะช่วยทำให้การนำข้อมูลเข้าสู่ระบบถูกต้องและรวดเร็วมากขึ้น ดังนั้นในหลาย ๆ บริษัทจึงได้นำเอาระบบ Automatic ID เข้ามาใช้ในการควบคุมสินค้าของบริษัท ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดในการตรวจนับสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการรับหรือการส่งสินค้า นอกจากนี้จะยังทำให้ง่ายต่อการตรวจสต็อกสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการตรวจประจำวัน ประจำเดือน หรือการตรวจนับประจำปี ก็สามารถที่จะทำได้ง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน การนำเอาระบบ Automatic ID มาใช้ สามารถช่วยในการวางแผนการทำงานของระบบต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า Work Plan สำหรับในโรงงานที่มีการผลิตสินค้าโดยสามารถที่จะช่วยในการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของตัวสินค้าได้ โดยส่วนมากในโรงงานซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติได้มีการนำเอาระบบ Automatic ID เข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกับโปรแกรม MRP-II (ManuFacturing Resource Planing) ซึ่งเป็นโปรแกรมวางแผนการผลิตในโรงงานดังจะกล่าวต่อไป

Automatic ID ผิดพลาดได้หรือไม่

ในการนำเอาระบบ Automatic ID เข้ามาเป็นตัวรับข้อมูลเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมนั้น โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในการอ่านข้อมูลของระบบ Automatic ID มีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ คงจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจของหลาย ๆ คน แน่นอนอุปกรณ์ทุกประเภทมีโอกาสทำงานผิดพลาดได้ และระบบ Automatic ID ก็มีโอกาสผิดพลาดได้เช่นกัน ดังอาจจะเกิดขึ้นจากหลาย ๆ สาเหตุ เช่นในระบบของบาร์โค้ด อาจจะเกิดจากตัวลาเบลของที่ติดกับตัวสินค้าเอง ซึ่งทำออกมาไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น ในการวัดความผิดพลาดของระบบ Automatic ID สามารถแบ่งได้เป็น
SER (Subsitution Error Rate) ซึ่งหมายถึงความเป็นไปได้ที่ตัวอ่านจะถอดรหัสผิดพลาดตัวอย่างเช่น ถอดรหัสของรหัสเลข 2 ออกมาเป็น เลข 5 เป็นต้น ซึ่งโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้สำหรับเครื่องอ่านบาร์โค้ดในระบบเลเซอร์ในปัจจุบันมีโอกาสเป็นไปได้หนึ่งในล้านหรือแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย
FRR (First Read Rate) หมายถึงจำนวนครั้งของการอ่านสามารถอ่านเพียงครั้งเดียวก็สามารถถอดรหัสออกมาได้ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องอ่าน เช่นในระบบบาร์โค้ด การใช้เครื่องอ่าน แบบเลเซอร์ จะสามารถอ่านโค้ดได้ในครั้งเดียวของการอ่านซึ่งแตกต่างจากการใช้เครื่องอ่านแบบใช้แสง (CDD) ในการอ่านซึ่งบางครั้งก็ต้องอ่านกันหลายรอบกว่าจะอ่านโค้ดได้ โดยจะต้องขยับตัวสินค้าที่จะอ่าน ดังพบได้จากตามซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปค่า FRR ของระบบ Automatic ID จะมีมากกว่า 80-100 % นั่นคือโอกาสที่จะอ่านไม่ได้มีเพียง 20 % เท่านั้น

ประเภทของ Automatic ID

อุปกรณ์ Automatic ID มีอยู่หลายประเภทตามการใช้งาน ซึ่งอุปกรณ์แต่ละชนิดจะมีการนำไปใช้งานตามสภาวะของการทำงาน ซึ่งในปัจจุบันมีหลายอย่างที่มีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ก็มีบางชนิดที่กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาเพื่อการนำมาใช้ในการทำงานจริง ตัวอย่างของอุปกรณ์ AUTOMATIC ID ที่พบเห็นและมีการนำมาใช้กันอย่างจริงจังและได้ผลดี โดยมีต้นทุนที่ต่ำ ได้แก่ บาร์โค้ด ซึ่งส่วนมากใช้ในการควบคุมสต็อกสินค้าในโรงงานหรือบริษัท ใช้ในห้องสมุดที่มีการยืมและการคืนด้วยระบบบาร์โค้ดนอกจากนี้ยังมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์AUTOMATIC ID อื่น ๆ อีกโดยจะพบเห็นได้ไม่ค่อยบ่อยนัก เช่นฟิงเกอร์พรินท์ ( FIGER PRINT ) หรือระบบตรวจสอบลายนิ้วมือ, OCR หรือระบบแปลงวิเคราะห์ คำ หรือระบบจดจำเสียงพูด, RF ID (Radio Frequency Identification) ซึ่งเป็นระบบตรวจจับหรืออ่านรหัสโดยการใช้คลื่นวิทยุ ซึ่งเหมาะสำหรับสถานที่ ๆ ที่ไม่สามารถนำเครื่องมืออย่างอื่นเข้าไปทำงานได้หรือสถานที่ ๆ ที่คนเราไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ เช่น ห้องพ่นสีรถยนต์ ในห้องอบ ฯลฯ และนอกจากนี้ยังมีระบบ อีกระบบ เป็นต้น


รูปที่ 2 แสดงบาร์โค้ดที่นำไปประยุกต์เข้าใช้เป็นบัตรพนักงาน

ประโยชน์และการประยุกต์ของ Automatic ID

จากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าระบบของ Automatic ID มีคุณสมบัติที่เด่นมากในเรื่องของความถูกต้องและความรวดเร็วในการทำงาน ดังนั้นจากคุณสมบัติที่เด่นนี้ เมื่อนำเอาระบบของ เข้าไปใช้ในการทำงานในส่วนขององค์กรที่ต้องมีการรับข้อมูลอยู่เสมอซึ่งในส่วนนี้เป็นที่แน่นอนว่าข้อมูลที่จะป้อนเข้าไปต้องมีความถูกต้องสูงสุด นอกจากความถูกต้องแล้ว ในเรื่องของเวลาก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ตัวอย่างเช่น
- ในส่วนขององค์กรที่ต้องมีการรับและส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า ซึ่งในแต่ละวันมีจำนวนสินค้าที่ต้องรับเข้าและส่งออกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อนำเอาระบบ Automatic ID เข้ามาใช้จะทำให้สามารถตรวจนับสินค้าที่รับเข้าและส่งออกได้ตลอดเวลา และสามารถจะตรวจสอบย้อนหลังได้ทันที่ว่าสินค้าแต่ละชิ้นรับเข้ามาและส่งออกไปเมื่อไร ส่งออกไปที่ไหน ซึ่งจากข้อมูลที่ได้นี้ทำให้หน่วยงานส่วนอื่น ๆ ขององค์กรได้รับผลประโยชน์ไปด้วย เช่น ในส่วนของซ่อมบำรุง ส่วนของการวางแผนงาน ฯลฯ เป็นต้น
- ในส่วนของโรงงานผลิตสินค้าสามารถที่จะนำเอาระบบของ Automatic ID เข้าไปใช้ควบคุมในสายการผลิตเพื่อที่จะควบคุมคุณภาพของสินค้าได้ เช่นโรงงานผลิตอาหารกระป๋อง เมื่อผู้ผลิตเลือกเอาระบบ Automatic ID โดยการใช้บาร์โค้ดติดเข้ากับผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องนั้น จะทำให้สามารถตรวจสอบและควบคุณคุณภาพของสินค้าในล็อตของการผลิตนั้น ๆ ได้ และเมื่อเกิดมีปัญหาจะสามารถเรียกสินค้าล็อตนั้น ๆ คืนกลับมาได้ทันเวลา
นอกจากการประยุกต์และประโยชน์ที่จะได้จากตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังส่งผลทางอ้อมต่อผู้ผลิตสินค้าอีกด้วยตัวอย่างเช่น ระบบ EAN-13 ที่จัดทำโดย สมาคมแห่งไทยเพราะในรหัสประจำตัวสินค้าแต่ละตัวได้ติดรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ผลิตสินค้าเข้าไปด้วย (ถ้ามีการออกแบบและใช้บาร์โค้ดตามมาตรฐานสากล) ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคหรือผู้ค้ารายอื่นต้องการหรือสนใจสินค้าของท่าน ก็จะสามารถรู้ได้ทันทีว่าผู้ใดเป็นผู้ผลิตและจะติดต่อท่านได้อย่างไรซึ่งเป็นการเปิดตลาดการค้าของท่านให้กว้างมากขึ้น นอกจากนี้ในบาร์โค้ดยังระบุประเทศผู้ผลิตอีกดังนั้นประเทศชาติก็จะได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่ว ๆ ไป

ระบบ Automatic ID กับ Information Super Highway

Information Super Highway หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของทางด่วนข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องของการทำให้ทุกมุมโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันได้ทันทีหรือที่เรียกว่าระบบ EDI (Electronic data Interchange) เช่น การสั่งซื้อวัตถุดิบของผู้ผลิตหนึ่ง ซี่งสามารถติดต่อกับผู้ขาย (Supplier) ได้โดยระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายสามารถส่งเอกสารการสั่งซื้อเป็นไฟล์หรือแฟ้มข้อมูลระหว่างกันได้เลย ดังนั้นทั้งทางผู้ซื้อและผู้ขายจึงไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในการป้อนข้อมูลต่าง ๆ อีก ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดได้มากขึ้น ซึ่งมีผลแก่ทั้งสองฝ่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วในการส่งสินค้ายังคงต้องมีการนับสต๊อกสินค้าจริงไม่ใช่เป็นการรับเพียงเอกสารเท่านั้น ดังนั้นถ้าการตรวจนับสินค้ายังเป็นแบบเดิมโดยมิได้นำระบบ Auto-ID เข้ามาช่วยระบบ EDI ก็ไม่ช่วยให้รวดเร็วขึ้นมาเลย

รู้จักบาร์โค้ด

บาร์โค้ดจัดเป็นระบบ Automatic ID ที่ได้รับความนิยมและนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด เนื่องจากต้นทุนต่ำ แต่ก็ให้ผลเกินค่าใช้จ่ายที่จ่ายไป ดังนั้นจึงมีการนำมาประยุกต์เข้ากับงานหลาย ๆ ด้าน โดยทั่วไปเข้าใจว่าระบบ Automatic ID ที่เป็นแบบบาร์โค้ดเป็นระบบอัตโนมัติ ความจริงแล้วมันไม่ใช่ระบบอัตโนมัติเสียทีเดียวเพราะผู้ใช้ยังคงที่จะต้องป้อนข้อมูลหรือมีโปรแกรมบางส่วนในการรองรับการทำงานกับระบบบาร์โค้ดนั้น ๆ ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วระบบบาร์โค้ดเป็นเพียงการนำเอาระบบ Automatic ID เข้ามาช่วยในการอินพุทข้อมูลเพื่อความรวดเร็วและแม่นยำโดยใช้เวลาที่น้อยลงต่างหาก เช่น การตรวจสต็อกสินค้า การป้อนตัวเลขสินค้าเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานแบบ Manual (การทำงานโดยอาศัยแรงงานคน) สามารถที่จะนำเอาระบบ Automatic ID นี้เข้ามาทำงานแทนได้อย่างไม่มีปัญหา โดยอาจจะไม่ต้องเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานเดิมเลย หรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็จะทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงขึ้นมากทีเดียว

ปัญหาที่เกิดจากการใช้บาร์โค้ด

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการใช้งานบาร์โค้ดในบ้านเรา ก็เนื่องจากบ้านเรายังขาดผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับบาร์โค้ดจึงทำให้การใช้ในบ้านเรามีการพัฒนาที่ช้า โดยเฉพาะในด้านของผู้ผลิตบาร์โค้ดที่มีอยู่ในบ้านเรายังไม่มีความรู้ความเข้าใจในการผลิตแผ่นลาเบลหรือสติกเกอร์สำหรับบาร์โค้ด ทำให้เกิดปัญหาในการใช้งานโดยที่ตัวอย่างรหัสบาร์โค้ดอย่างได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หรือใช้ไม่ได้เลยก็มี แต่ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาได้มีบริษัทต่าง ๆ หันมาให้ความสนใจการใช้งานระบบบาร์โค้ดมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงทำให้ธุรกิจนำเข้าอุปกรณ์บาร์โค้ดมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องพิมพ์บาร์โด้ดแบบต่าง ๆ เครื่องอ่านรหัสบาร์โค้ดแบบต่าง ๆ และเครื่องมือที่ใช้ในทดสอบการพิมพ์บาร์โค้ดก่อนที่จะใช้งานจริง หรืออื่น ๆ อีกมากมายจึงทำให้ในปัจจุบันเจ้าของธุรกิจ หรือสถาบันการศึกษาและหน่วยราชการต่าง ๆ ที่ต้องการใช้บาร์โค้ด สามารถที่จะสรรหาเครื่องมือเกี่ยวกับบาร์โค้ดได้สะดวกทีเดียว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับระบบบาร์โค้ดก็คือ "ส่วนที่ถูกที่สุด" ในระบบบาร์โค้ดคือส่วนที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือลาเบลหรือวัสดุที่จะใช้พิมพ์รหัสบาร์โค้ดตลอดจนวิธีที่จะใช้ในการพิมพ์รหัสของบาร์โค้ดนั่นเอง เป็นสิ่งที่ผู้ที่จะใช้ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่ง

การประยุกต์บาร์โค้ดในการใช้งาน

- ช่วยในงาน Inventory หรือสินค้าคงคลัง เพราะจะช่วยให้ความเคลื่อนไหวของสินค้าต่าง ๆ ที่อยู่ในสต็อก ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบหรือสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารสามารถที่จะวางแผนเพื่อการสต็อกสินค้า หรือนำเข้าวัตถุดิบได้อย่างเหมาะสม


รูปที่ 3 แสดงบาร์โค้ดช่วยในการซื้อขายสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต

- ช่วยในการนับ Physical Inventory เพราะเนื่องจากในปัจจุบันบริษัทใหญ่ ๆ สามารถทำการนับ Physical Inventory ซึ่งเป็นการนับสินค้าจริงได้เพียงปีละครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งจะต้องใช้เวลาในการเตรียมการก่อนนับถึง 1-2 อาทิตย์และอาจจะต้องใช้เวลาในการนับอีก 2 อาทิตย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่ายุ่งยากและเสียเวลามาก ดังนั้นถ้ามีการนำเอาระบบ Automatic IDเข้ามาใช้โดยเลือกใช้พอร์ตเทเบิลบาร์โค้ด ( Portable Data Terminal รูปที่ 1) ซึ่งเป็นเครื่องอ่านรหัสบาร์โค้ดแบบมือถือเข้ามาช่วยในการนับ Physical Inventory จะทำให้ช่วยลดเวลาลงถึง 75% ดังนั้นจะทำให้สามารถทำการนับ Physical Inventory ได้ปีละหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งจะทำให้สามารถเช็คการสูญหายของสินค้าได้ตลอด


รูปที่ 4 เครื่องพิมพ์บาร์โค้ด

- ในงานบางอย่างการนับชิ้นหรือปริมาณไม่สามารถที่จะให้ความถูกต้องของสินค้าได้ เช่น ร้านขายเครื่องประดับเพชรซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาสูง และมีหลายราคา ดังนั้นหากพนักงานขายหยิบขายสินค้าที่ผิดราคาไป เช่นแหวนเพชรราคา 50,000 บาท แต่พนักงานเข้าใจผิดคิดว่าราคา 10,000 บาทจึงขายออกไป แต่เมื่อตรวจนับเช็คสินค้าซึ่งเป็นการนับจำนวนก็ไม่พบความผิดพลาดอย่างไร แต่ในความเป็นจริงแล้วเกิดความผิดพลาดในด้านราคาขายขึ้น ดังนั้นเมื่อนำเอาระบบบาร์โค้ดเข้ามาใช้ติดกับสินค้าทุกชิ้น จะทำให้สามารถป้องกันความผิดพลาดในการขายผิดราคาผิดที่สินค้าได้เลย


- ช่วยในการควบคุมในโรงงานที่ต้องการมาตรฐานในการผลิตสูง คือมีการใช้ระบบ MRP-II (ManuFacturing Resource Planing) ซึ่งเป็นระบบช่วยในการวางแผนในการผลิต ซึ่งระบบ MRP-II จะต้องใช้ข้อมูลต่าง ๆ เช่นในแต่ละสเตทของการผลิตใช้เวลาในการทำงานเท่าไร ใช้วัตถุดินเท่าไร ใช้เวลาในการทำงานเท่าไร และต้องป้อนวัตถุดิบเช้าไปเท่าไร จึงจะทำให้ใช้ต้นทุนที่ใช้ในการผลิตต่ำที่สุด ฯลฯ ซึ่งระบบ MRP-II ต้องอาศัยส่วนที่สำคัญคือ Work in Process tracking ซึ่งในส่วนนี้มีการติดตามควบคุมดูแลลำบาก ดังนั้นจึงมีการนำบาร์โค้ดเข้ามาช่วย ที่กล่าวมาเป็นเพียงการประยุกต์ใช้งานของบาร์โค้ดเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการประยุกต์นำบาร์โค้ดไปใช้งานยังสามารถนำไปใช้ได้อีกมากมายตามสภาวะของงาน

แนวโน้มของ Automatic ID

แนวโน้มในการนำเอาระบบ Automatic ID เข้ามาใช้โดยเฉพาะระบบบาร์โค้ดในการผลิตสินค้าทั้งเพื่อการส่งออกและภายในประเทศมีแนวโน้มที่สูงมากขึ้นเพราะในตลาดการค้าโลกได้มีการบังคับให้ผู้ค้าต้องติดรหัสบาร์โค้ดให้กับสินค้าที่จะส่งออกมาขาย ซึ่งในประเทศไทยได้มีการออกกฎมาบังคับให้ ผู้ค้าปลีกต้องติดรหัสบาร์โค้ดสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจส่งออกต้องทำการกดรหัสบาร์โค้ดไปกับตัวสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


สำหรับรหัสบาร์โค้ดที่ใช้กันโดยทั่วไปในปัจจุบันจะเป็นรหัส EAN 13 ซึ่งแทนตัวเลข 13 ตัวซึ่งจะแทนความหมายดังนี้
รหัส 3 ตัวแรก ใช้แทนชื่อประเทศผู้ผลิตสินค้านั้น เช่นประเทศไทยใช้รหัส 885
รหัส 4 ตัวถัดมาใช้แทนบริษัทผู้ผลิตสินค้านั้น ๆ
รหัส 5 ตัวถัดมาแทนสินค้า
รหัสสุดท้าย เป็นรหัสสำหรับตรวจสอบความผิดพลาด (Check Digit)
สำหรับในประเทศไทยผู้ที่ต้องการจะใช้รหัสบาร์โค้ดกับสินค้าท่านสามารถติดต่อได้ที่สมาคมแท่งไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทางสมาคมแห่งไทยจะเป็นผู้กำหนดรหัสบาร์โค้ดให้กับผู้ขอแต่ละรายและรหัสนี้จะเป็นรหัสเฉพาะของผู้ผลิตแต่ละรายในโลกเท่ากัน

ส่งท้าย

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่าการนำเอาระบบ Automatic ID เข้าประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันจะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่การดำเนินธุรกิจอย่างมากมาย ทั้งด้านความรวดเร็วความถูกต้องของข้อมูล อีกทั้งสามารถควบคุมทั้งคุณภาพของสินค้าและต้นทุนได้ สำหรับระบบบาร์โค้ดจัดว่าเป็นหัวใจหลักของระบบ Automatic ID ในปัจจุบันซึ่งสามารถอินพุทข้อมูลเข้าไปในระบบได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ดังนั้นถ้าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจหรือเจ้าของบริษัทระบบ Automatic ID จะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับการดำเนินธุรกิจให้ก้าวต่อไปได้


เขียนโดย : ชโลทร นาคนคร
วารสาร COMPUTER USER ปีที่ 2 ฉบับที่ 21 สิงหาคม 2538
Last update : 02/07/1999